สธ. ชี้สถานการณ์โควิดของไทยพบสัญญาณเชิงบวกยอดคนหายป่วยใกล้เคียงผู้ติดเชื้อรายใหม่หมุนเตียงได้เร็วขึ้น คาดหลังล็อกดาวน์ใน 1-2 เดือนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,000 ราย ย้ำไฟเซอร์กระจายจนท.ด่านหน้าแล้วทั่วปท.
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.64 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ว่า วันนี้สถานการณ์ในประเทศ มีสัญญาณเป็นชิงบวก พบหายป่วยแล้ว 21,108 ราย ใกล้เคียงกับผู้ป่วยรายใหม่ 21,839 ราย แสดงให้เห็นว่าระบบบริการที่ตอนนี้พยายามเต็มที่ให้ผู้ป่วยมีอาการหนักและอาการรุนแรงได้รับการรักษาเร็วขึ้น ถ้าสามารถหมุนเตียงได้เร็วขึ้นแบบนี้ จะทำให้การรักษาอาการได้ครบถ้วนมากขึ้น
“กลุ่มหายป่วยวันนี้เป็นกลุ่มในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม 18,834 ราย ในเรือนจำ 455 ราย ในระบบการกักตัวที่บ้านและชุมชน 1,819 ราย กำลังรักษาอยู่ 213,444 ราย ป่วยปอดอักเสบยังสูง 5,159 ราย ใส่ท่อหายใจ 1,060 ราย เสียชีวิต 212 ราย เสียชีวิตสะสม 5,972 ราย”
สำหรับข้อมูลผลการตรวจ Antigen Test kit (ATK) ที่กรุงเทพฯมีเก็บข้อมูลมาตลอด สัดส่วนคนที่ได้รับการตรวจและผลบวกประมาณกี่เปอร์เซ็นต์ ช่วงนี้จะเห็นว่ากรุงเทพฯอยู่ในแนวโน้มสถานการณ์การติดเชื้อค่อนข้างคงตัวอยู่ที่ประมาณ 10% ถ้าต่อไปยังลดลงเรื่อยๆจะเป็นแนวโน้มสัญญาณที่ดี ช่วยทำให้เห็นภาพว่าการฉีดวัคซีนเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากที่ลดการแพร่เชื้อจากครอบครัวหนึ่งสู่ครอบครัวหนึ่ง หรือภายในบ้าน ที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งทั่วประเทศที่ได้รับการตรวจ ATK มีผลบวก 6,026 ราย
ตัวเลขคาดการณ์จากโมเดลการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด หากเราเริ่มล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 20 ก.ค.-31 ส.ค. ประมาณ 1 เดือนกว่า มีประสิทธิภาพ 20% และอีกตัวเลขคาดการณ์ล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ประกอบกับเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุถึงเป้าหมายใน 1-2 เดือนก็จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,000 ราย
ขณะที่สถานการณ์จริงที่เราเจอติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นราย แสดงว่าสถานการณ์ล็อกดาวน์เรามีประสิทธิภาพตรง 20% ดังนั้น การเร่งฉีดวัคซีนตอนนี้ยังไม่ออกผล จนกว่าจะฉีดจนครบถ้วนได้มากกว่านี้ ดังนั้นต้องปรับให้ได้ประสิทธิภาพ 25% มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรคให้ได้ที่สุด
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.ร่วมกับหลายหน่วยงาน คือ การค้นหาผู้ติดเชื้อด้วย ATK และต้องมีทีม CCR ในการลงไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และการเดินทางไปรักษาที่บ้าน ที่ภูมิลำเนา ต้องมีศูนย์พักคอยคอยจัดการระบบเตียงปลายทางให้ชัดเจนขึ้น ขณะที่สถานการณ์ผู้เสียชีวิต ตั้งธงไว้ว่าผู้สูงอายุในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัดต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70% ภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่พื้นที่จังหวัดอื่นๆต้องฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
เมื่อถามว่าสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่างจังหวัดที่เคยคาดการณ์ว่าจะถึงจุดพีค ภายใน 2 สัปดาห์ ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า ในขณะนี้มียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใน 3 กลุ่มคือ 1.ผู้ที่ติดเชื้อที่เดินทางจากกรุงเทพฯ หรือในพื้นที่ระบาด โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่างที่รับผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาต่อเนื่อง 2.กลุ่มผู้ที่เดินทางกลับไปก่อนหน้านี้และไม่ได้มีการประสานกับโรงพยาบาล ซึ่งอาจติดเชื้อแล้วแต่ไม่มีอาการและไปแพร่ต่อให้กับบุคคลที่บ้าน และ3.กลุ่มผู้ที่อยู่ในจังหวัดเองที่มีสถานประกอบการหรือโรงงานค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องคุม 3 กลุ่มนี้ให้ได้ สถานการณ์ในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้าที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะถึงจุดพีคสุด แต่หากมีการควบคุมและป้องกันตัวเองได้ดีดูแลไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อได้ก็จะไม่เห็นสถานการณ์เช่นนั้น
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับการบริจาคจากสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดสไปฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านหน้า รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 4-6 ส.ค โดยส่งวัคซีนไปทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด 170 โรงพยาบาลได้รับวัคซีนเรียบร้อยแล้วและหลายโรงพยาบาลเริ่มฉีดแล้ว โดยเป็นจำนวนวัคซีนที่ส่งออกไปในล็อตแรกกว่า 4.6 แสนโดส ซึ่งผลการฉีดไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง
อย่างไรก็ตามมีข่าวปลอมว่า วัคซีนที่รพ.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จ.ตาก หายไปนั้น ยืนยันว่าไม่จริง ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าวัคซีนอยู่ในสภาพที่ครบถ้วนและเตรียมฉีดให้กับบุคลากรในวันนี้ ยืนยันว่าทุกอย่างมีการดูแลและตรวจสอบอย่างดี นอกจากนี้ยังมีข่าวปลอมที่ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการส่งวัคซีนไฟเซอร์ให้กับศูนย์ที่นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นหัวหน้า ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ไม่มีการส่งไฟเซอร์ไปให้ตามข่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 20.2 ล้านโดส โดยมีอัตราการฉีดที่เร็วขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว 15.7 ล้านโดส ส่วนฉีดเข็มที่ 2 แล้ว 4.4 ล้านโดส และในช่วง 3 วันที่ผ่านมาได้มีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้วกว่าแสนราย การฉีดวัคซีนในขณะนี้ยังคงดำเนินการได้เป็นไปตามแผนและในเดือนส.ค.จะมีวัคซีนทุกชนิดรวมกันมากกว่า 10 ล้านโดส จึงถือเป็นช่วงเดือนสำคัญในการให้วัคซีน ส่วนวัคซีนบริจาคแอสตราเซเนกาที่มาจำนวน 4 แสนนั้น ภายหลังกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ คาดว่าใช้เวลาสัปดาห์เดียวฉีดหมดได้ นอกจากนี้ในเดือนนี้วัคซีนแอสตราเซเนกาแจ้งว่าจะจัดส่งให้ได้อีกประมาณ 5.4 ล้านโดส เพื่อนำไปฉีดในพื้นที่ต่างๆ