“ซูเปอร์โพล” เผยผลสำรวจความต้องการของประชาชน พบว่า จุดยืนทางการเมืองของประชาชน ร้อยละ 29’2 ของคนที่รับวัคซีนแล้ว เทียบกับร้อยละ 10.8 ของคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแล้วสนัลสนุรัฐบาล
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สำรวจเรื่องความต้องการของประชาชน พบว่า กลุ่มประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วมีสัดส่วนของคนที่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่า กลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ร้อยละ 29.2 เทียบกับร้อยละ 10.8 ในขณะที่กลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมีสัดส่วนของคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมากกว่ากลุ่มประชาชนที่ได้รับวัคซีนแล้วคือร้อยละ 44.7เทียบกับร้อยละ 24.1 โดยกลุ่มพลังเงียบมีสัดส่วนไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มประชาชนที่รับวัคซีนแล้วร้อยละ 46.7 เทียบกับร้อยละ 44.5 ในกลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
มื่อพิจารณาถึงความต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ในช่วงก่อนติดเชื้อโควิด-19 ระดับมากถึงมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ต้องการให้มีการเผยแพร่ตัวอย่างที่ดีในการบริหารจัดการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้รู้กว้างขวางในหมู่ประชาชนและชุมชน ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 ต้องการให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด (ศบค.) ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนรับมือโควิด-19 ในทุกมิติ เช่น การป้องกัน การเข้าถึงกระบวนการรักษา การกักตัว การพักฟื้น เป็นต้น ร้อยละ 66.7 ต้องการให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ช่วยหาชุดตรวจโควิดฟรี หรือ ควบคุมราคาชุดตรวจโควิดให้ถูกลง ประชาชนทั่วไปหาซื้อใช้เองได้ง่าย เมื่อรู้ว่าติดเชื้อจะได้แยกตัวเองออกจากผู้อื่น ลดการระบาด และร้อยละ 64.7 ต้องการจะรู้ว่า ตัวเอง ติดเชื้อโควิดหรือไม่
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.4 ระบุ เมื่อประชาชนพบว่าติดเชื้อ ต้องการให้ทุกหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ควรมีมาตรการรับผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาเต็มรูปแบบทันที มากกว่าปล่อยให้ประชาชนผู้ติดเชื้อรักษาเองเพียงลำพังจนอาการหนักเกิดการสูญเสีย ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อค ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่สกัดกั้นการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ เช่น การส่งชุดยาสมุนไพร และยาแผนปัจจุบัน เข้าช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อในเรือนจำ การทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ 24 ชั่วโมงในการช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.1 ต้องการให้ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กองทัพ และมหาดไทย แก้ปัญหาในทุกมิติของการนำผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา เช่น การรับแจ้งศูนย์ต่าง ๆ (Call Center) ให้เปิดรับ 24 ชั่วโมง มีการประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ความรวดเร็วเรื่องยานพาหนะนำผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาการนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็วที่สุด ร้อยละ 70.3 ต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาให้โรงพยาบาลสนามยอมรับผลตรวจโควิดด้วยตนเองให้เข้ารับการรักษา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนของประชาชนที่ต้องเดินทางและหาที่ตรวจโควิดที่ออกเอกสารได้ ซ้ำเติมวิกฤตการเงินของประชาชน ร้อยละ 69.5 ต้องการให้แก้ปัญหาช่องว่าง ระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ไม่มีการบูรณาการที่ดีช่วยเหลือประชาชนขาดการยึดโยงต่อกันในการป้องกันและรักษาแต่ละกลุ่มแต่ละหน่วยไปคนละทิศคนละทาง ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.4 ต้องการให้มีรถนำส่งผู้ป่วยที่ปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 ต้องการให้แก้ปัญหาผู้ป่วยในพื้นที่เฉพาะแบบครบวงจร เช่น ประชาชนบนเกาะ และพื้นที่ห้ามเข้าออก ทำให้ขาดการช่วยเหลือการรักษาที่ดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ทำให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใน “นาทีทอง” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศ “ล้มแล้วลุกทันที” ด้วยการปฏิรูปเชิงปฏิบัติการของระบบราชการให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญได้แก่ ก่อนการติดเชื้อโควิด-19 และหลังการติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐปฏิรูปการตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างรวดเร็วฉับไวและให้ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจของประชาชนทั้งประเทศ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า การที่ประชาชนรู้ตัวเองว่าติดเชื้อโควิด-19 คือต้นน้ำและหัวใจของการควบคุมโรคโดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะปฏิบัติกันด้วยยุทธศาสตร์ที่ดีมีข้อมูลที่ดีของการตรวจคัดกรองแยกคนติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อในพื้นที่เฉพาะทันที ดังนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหัวเมืองใหญ่ของประเทศเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ต้องเพิ่มจุดตรวจคัดกรองให้ครอบคลุมและทำให้ประชาชนเข้าถึงชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองได้ฟรีหรือราคาถูกลงทำให้ชาวบ้านเข้าถึงได้โดยง่ายตามร้านขายยาและสถานพยาบาลในชุมชนต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมีราคาสูงถึง 300 – 400 บาทต่อชิ้นตรวจกทม. เป็นเมืองหลวงใกล้ศูนย์รวมอำนาจบริหารจัดการประเทศแต่กลับเปราะบางที่สุดโดยเฉพาะชุมชนแออัดหรือเรียกว่าเป็นพื้นที่ที่ “เสียงคนจนเมืองที่รัฐบาลอาจจะไม่ได้ยิน” ในต่างประเทศเขาจะให้ความสำคัญเพ่งเล็งเป็นพิเศษเพราะอาจจะมีความหนาแน่นของกลุ่มคนที่ไม่มีอะไรเหลือที่จะเสีย (A group with nothing tolose) ทำให้ปรากฏออกมาบนท้องถนนด้วยอารมณ์รุนแรง
ถ้าประชาชนกลุ่มนี้ไม่มีวัฒนธรรมไทยยึดโยงไว้บ้านเมืองจะควบคุมยากกว่าที่เป็นอยู่นี้ “ดังนั้นทางแก้คือการเชื่อมโยงปลดล็อคกำแพงขวางกั้นระหว่างอำนาจรัฐ (State Power) กับ พลังอาสาสมัครภาคประชาชน (Non-State Power) และทีมแพทย์ชนบทที่พวกเขาได้ยินเสียงแห่งความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนแออัดจึงต้องเชื่อมประสานทุกส่วนราชการกับกลุ่มอาสาสมัครภาคประชาชนปลดล็อคระเบียบกฎเกณฑ์ ระบบราชการให้สามารถกระจายความช่วยเหลือต่าง ๆ เข้าถึงทุกกลุ่มครอบคลุมเป้าหมาย เช่น การเข้าถึงจุดตรวจคัดกรองและชุดตรวจโควิด-19 ได้ง่ายระบบการรักษาแบบครบวงจรทั้งการลำเลียงผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษา ด้วยชุดยาสมุนไพรไทยและแผนปัจจุบัน ชุดอาหารประจำวัน กระจายครอบคลุมพื้นที่ด้วยความรวดเร็วฉับไวและได้ผลดีมีประสิทธิภาพ”
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว ในขณะที่ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ว่า เวลานี้การแก้ปัญหาโควิดที่มีพลังที่สุดกลับไปอยู่ที่ภาคประชาชนซึ่งรวมถึงทีมแพทย์ชนบทบุกเข้ากรุง ครั้งที่ 3 เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อพบให้เร็วเพื่อรักษาจ่ายยาให้เร็วและนำเข้าระบบกักตัว จะได้ลดอัตราป่วยหนักที่ต้องการเตียงโรงพยาบาลทุกคนมาด้วยพลังและความมุ่งมั่นลงปฏิบัติการทั่วกรุงเพราะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาทำงาน ไม่มีกฎระเบียบขั้นตอนการจ่ายยาแต่มีจิตใจที่มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันละกัน
นางจุฬารัตน์ กล่าวต่อว่า มีข้อเสนอเร่งด่วนจากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายภาคประชาชน ให้มีการจัดตั้ง “กองกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนทั่วประเทศ” มี “ศูนย์ต่อสู่โควิดประจำอำเภอ” ที่รัฐร่วมมือกับประชาชนหรือภาคประชาสังคม และต้องปลดล็อค กฎ ระเบียบ พร้อมทั้งเร่งรัดให้ความรู้ เพื่อให้การแยกกัก คัดกรอง และรักษาผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยที่บ้านและชุมชน ( Community and home isolation ) มีความพร้อม ทั้งนี้ รัฐต้องสนับสนุนเต็มที่ และที่สำคัญ ต้องมีระบบส่งต่อที่รวดเร็ว “วิกฤตคราวนี้ รัฐ ต้องเปิดใจ ยอมรับให้การใช้สมุนไพร เข้ามามีบทบาทในการป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จของการใช้สมุนไพรรักษาผู้ติดเชื้อโควิด และป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อของโควิด ทั้งในระบบการกักตัวที่ชุมชน และการกักตัวที่บ้านในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า สมุนไพรที่ใช้ต้มยาเป็นสมุนไพรปลอดภัย ที่ปลูกโดยไม่ใช้เคมี เป็นสมุนไพรจากเครือข่าย ‘โคก หนอง นา’ที่มีรากฐานจากการน้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหนทางให้คนไทยสามารถบริหารจัดการตนเองในภาวะวิกฤติ” นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าว