กก.โรคติดต่อฯ เผยสถานการณ์คงที่ แนวโน้มขาลง แต่ยังเปราะบางต้องคุมเข้ม จ่อชง ศบค. เปิดประเทศตามนโยบาย 120 วัน เตรียมความพร้อมประชาชนใช้ชีวิตร่วมโควิด ทุกคนยกการ์ดสูงบนพื้นฐานเสี่ยงติด แพร่ฯ เท่ากัน
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 8/2564 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ายังมีตัวเลขการติดเชื้อสูงแต่คงตัว และมีแนวโน้มลดลงจากที่เคยขึ้นสูงสุด 2.3 หมื่นราย ลงมาอยู่ที่ 1.7 หมื่นราย รักษาหายมากกว่า 2 หมื่นกว่าราย ส่วนการระดมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งขณะนี้มีการฉีดวัคซีนโดยเฉลี่ยแล้ว 5-6 แสนโดสต่อวัน ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนสะสมอยู่ที่ 27 ล้านโดส มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 28%
นพ.โอภาส กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการโรคติดต่อฯ มีมติในประเด็นสำคัญ 4 เรื่องที่ต้องนำเสนอต่อ ศปก.ศบค.ต่อไป คือ 1. การดำเนินการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ (Smart Control and Living with covid 19) เป็นการเตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านจากภาวะวิกฤตมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดของโรคให้มีผู้ป่วยไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข โดยกลยุทธ์ที่สำคัญถ้าพูดกันง่ายๆ คือเราจะต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับเชื้อโควิด19 ต่อไป จากเดิมที่มีการระบาดทั่วโลกต่อจากนี้เป็นที่เข้าใจทั่วโลกว่าเราจะต้องเข้าสู่ช่วงที่โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น
ดังนั้นในหลายประเทศจึงมีมาตรการรองรับการใช้ชีวิตของประชาชนให้เป็นปกติที่สุด กลยุทธ์ที่สำคัญ 1. ฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง รวมถึงการพัฒนาการหาวัคซีนใหม่อย่างครบวงจรในประเทศไทย 2. มีมาตรการป้องกันโรคในทุกกรณี ในทุกโอกาส โดยมีแนวคิดที่ว่าทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ที่สามารถแพร่เชื้อได้ ฉะนั้นจะต้องมีมาตรการระมัดระวังตนเองตลอดเวลา 3. มาตรการเชิงรุกโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว CCRT ออกเยี่ยมบ้านพื้นที่กทม. ปริมณฑลและพื้นที่ระบาดอื่นๆ เพื่อตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย ATK ฉีดวัคซีน 4. การกำหนดมาตรการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น
2. เห็นชอบหลักการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) สำหรับสถานประกอบกิจการ ในพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ใช้แนวคิดกลุ่มคนที่แข็งแรงและอยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่จำกัด ไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้าพบการติดเชื้อเกิน 10% แยกไปรักษาที่รพ.สนาม และเฝ้าระวังคนที่เหลือให้สามารถทำงานต่อไปได้ เมื่อครบ 28 วัน ตรวจภูมิคุ้มกัน
ผู้ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันจะสามารถทำงานต่อไป กลับบ้านได้ ผลดีคือ ไม่ต้องปิดโรงงาน แรงงานได้ค่าจ้าง เศรษฐกิจไปต่อได้ โดยมีกลไกด้านการสื่อสารทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำและระบบพี่เลี้ยง ด้านกำกับประเมินผล ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
3.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง เรื่อง การแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวง เรื่อง การยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ….เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพาหนะจากต่างประเทศที่จะเข้ามาประเทศไทยทั้งในด่านบก เรือ และอากาศ และ 4.สนับสนุนให้มีผู้แทนของสมัชชาสุขภาพจังหวัดร่วมประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เพื่อให้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ร่วมรับรู้และร่วมดำเนินมาตรการควบคุมโรคภายในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังได้รับทราบมติคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เห็นชอบให้ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีน Sputnik V เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้
เมื่อถามถึงรายละเอียดเรื่องการเปิดประเทศ นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างที่ทราบว่าการล็อคดาวน์จะสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค.นี้ดังนั้น หลังจากนี้ไปตั้งแต่ ก.ย.ถึงปลายปีนี้และปีหน้าเราจะเปิดให้ประชาชนได้และกิจกรรมต่างๆ มีชีวิตได้ตามปกติเราจะต้องทำอะไรบ้างหลักๆ ตามที่ชี้แจงไปแล้ว 31 ส.ค.นี้ จะมีการประเมินอีกครั้ง และประเมินเป็นระยะ ซึ่งในการพิจารณานั้นไม่ได้ดูแค่ตัวเลขเดียว แต่จะดูตัวเลขทั้งหมดทั้งการติดเชื้อใหม่ แนวโน้มการตรวจ เปอร์เซ็นต์การ ตรวจผู้มีอาการหนัก ผู้เสียชีวิตและอัตราการตรวจในแต่ละพื้นที่ และประเด็นการกระจายของโรคควบคู่กัน
‘’ซึ่งจากการดูตัวเลขหลายตัวเห็นสอดคล้องกันว่าสถานการณ์น่าจะถึงจุดพีคและกำลังลดลง อย่างไรก็ตามจะต้องดูสถานการณ์อีก 3-4 วันว่าแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี แต่ยังมีจุดเปราะบางที่เราต้องเข้มงวดก่อนการผ่อนคลายมาตรการโดยจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาขมวดรับขบวนอีกใน 2 3 สัปดาห์ข้างหน้า’’
ผู้สื่อข่าวถามว่าการเปิดประเทศนั้น เป็นการเปิดทั้งประเทศ หรือเปิดเฉพาะพื้นที่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัญญาณการเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งในขณะที่พูดนั้นไม่ได้หมายความว่า 120 วันนั้นจะต้องเปิดประเทศทั้งหมด แต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็เป็นมาตรการหนึ่งในการเปิดประเทศและเป็นตัวอย่างที่ดีว่าถึงแม้เราจะมีผู้ติดเชื้อในจังหวัดภูเก็ต แต่ถ้าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็สามารถให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว พักผ่อนที่ภูเก็ตได้เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยที่ไม่กระทบวิถีชีวิตประชาชนมากนัก ดังนั้นเป้าหมายในการเปิดประเทศ 120 วัน กระทรวงสาธารณสุขก็ได้รับนโยบายนายกฯ มาปฏิบัติอยู่แล้ว และทุกอย่างค่อนข้างเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
อย่างไรก็ตามยังมีตัวแปรอีกเยอะที่จะมีผลกระทบ ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่นายกฯ ประกาศนโยบายเปิดประเทศ 120 วัน ตอนนั้นเรายังไม่มีสายพันธุ์เดลต้าระบาด อย่างที่ทราบว่าสายพันธุ์เดลต้าเป็นตัวเปลี่ยนเหตุการณ์ ทั่วโลกหลายประเทศที่ควบคุมการระบาดได้แต่พอเจอเชื้อเดลต้า ก็กลับมาระบาดใหม่ เช่น สหรัฐอเมริกามีการติดเชื้อแสนรายต่อวัน รวมถึงอิสราเอลที่มีการฉีดวัคซีนกว้างขวางระดับ 70% แต่ก็มีการติดเชื้อใหม่ อย่างไรก็ตามทุกอย่างอยู่ในการประเมินสถานการณ์และดำเนินการตามแผน ส่วนจะเปิดประเทศ 120 วันได้กว้างขวางแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความร่วมมือของทุกฝ่าย.