กรมวิทย์ฯ เผยพบสายพันธุ์เดลตาย่อยในไทย 4 ตัว มีผู้ติดเชื้อ 14 ราย ใน 8 จังหวัด ยังไม่พบข้อมูลหลบวัคซีน ต้องติดตามต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว “พบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย” ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจเชื้อพบภาพรวมทั่งประเทศ เป็นสายพันธุ์เดลตา 92.9 % ส่วนกทม. 97 % อย่างไรก็ตามปัจจุบันตรวจพบทุกจังหวัดของประเทศไทย ส่วนเบตายังอยู่ในภาคใต้ตอนล่างโดยเฉพาะที่ติดกับประเทศมาเลเซีย สัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 29 ราย
ทั้งนี้ กรมวิทย์ฯ มีการตรวจพันธุ์กรรมทั้ง ตัวพบการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง บางเรื่องอาจจะต้องจับตาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การพบสายพันธุ์ย่อยยืนยันว่ายังไม่ใช่สายพันธุ์ไทย การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ย่อยยังพบที่ต่างประเทศเหมือนกัน อาทิ สวีเดน เดนมาร์ค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดที่พบเชื้อนั้นยังมีตัวอย่างน้อย ยังไม่สามารถระบุถึงความรุนแรง ความแตกต่าง หรือพื้นที่ที่มีการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตามที่เจอนี้ยังไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ได้มีการประสานกรมควบคุมโรคให้ดูแลผู้ติดเชื้อ และดูเรื่องของการเพิ่มจำนวนอย่างไร
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั่วโลก โดยศูนย์ GISSAID มีการจัดระเบียบสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด -19 และมีการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัสเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแต่ละตำแหน่ง ดูการกลายพันธุ์เรื่อยๆ พบว่าเชื้อเดลต้ากลายพันธุ์หลุดออกมากกว่า 60 ตำแหน่ง จากจีโนมทั้งหมด 30,000 ตำแหน่ง บ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก มีสายพันธุ์ย่อยของเดลต้าเยอะ AY .1- AY.22 มีการขยายไปประมาณ 20 สายพันธุ์ย่อย
สำหรับข้อมูลเฉพาะประเทศไทย เดลตาพบสายพันธุ์ย่อย AY.4 พบที่จังหวัดปทุมธยานีย่านรังสิต 4 ราย สายพันธุ์ย่อย AY.6 พบในประเทศไทย แต่ไม่ได้ระบุพื้นที่ที่พบ 1 ราย สายพันธุ์ย่อย AY .10 พบในกทม. 1 ราย และสายพันธุ์ย่อย AY .12 พบที่ กทม.ย่านพญาไท 1 ราย ทั้งนี้ต้องจับตาว่าจะเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ โดยไทยต้องจับตา AY .4 เพราะพบค่อนข้างมาก ไม่ได้หมายความว่าเจอเยอะที่ปทุมธานี แต่เพราะมีการสุ่มตัวอย่างที่นี่เท่านั้น
เมื่อศึกษาต้นตระกูลของเชื้อกลายพันธุ์ย่อยในไทยไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากสเต็จควอรันทีน หรือสนามบินดอนเมือง แต่บ่งชี้ว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์เดลต้าที่มีในไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้บรรดาสายพันธุ์ย่อย ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ว่าจะดื้อต่อวัคซีนแต่อย่างใด ซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่าเชื้อจะมีการกลายพันธุ์หลบวัคซีนหรือไม่ ส่วนเรื่องการส่งผลต่ออาการหรือการรักษานั้นขอชี้แจงว่าการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน การรักษายังเหมือนกัน ย้ำว่ายังไม่ใช่สายพันธุ์ไทย
จำนวนที่สุ่มตรวจไป 1 พันกว่าตัวอย่างทำให้เราเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ส่งข้อมูลไป ทำให้ทั่วโลกเอาไปใช้ได้ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่บ้านเรา แต่ปัญหาคือเพื่อนบ้านที่เรายังไม่มีข้อมูลเลย ว่าจะมีสายพันธุ์จากบ้านเขามาระบาดบ้านเรา หรือจากบ้านเราไประบาดบ้านเขา เป็นต้น
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผอ.สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวว่า สายพันธุ์เดลตามีการอัพเดตตลอด ล่าสุดอัพเดตข้อมูล 9 ส.ค. ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อย AY 20 กว่าตัว แต่ยังไม่พบเชื้อเดลต้าพลัสที่เจอในอินเดีย ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อยที่พบในไทยมีการกลายพันธุ์จำเพาะแต่ละสายพันธุ์ โดยจากการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งตัว 1,955 ตัวอย่าง สุ่มตรวจตั้งแต่ พ.ค. 64 พบว่าเป็นอัลฟา 71% เดลตา 23 % ล่าสุด AY4 พบ 9 ตัวอย่าง พบมากสุดที่ปทุมธานี 4 ตัวอย่าง บุรีรัมย์ กำแพงเพชร เชียงใหม่ สมุทรปราการ และชลบุรี จังหวัดละ 1 ตัวอย่าง AY .6 ราย ที่ กทม. AY .10 พบ 1 ตัวอย่างที่กทม. และ AY .12 พบ ที่สุราษฎรธานี 2 ตัวอย่าง และกทม. 1 ตัวอย่าง ทั้งหมดพบตั้งแต่มิ.ย.- ส.ค. ดังนั้นต้องเฝ้าระวังต่อ เพราะยังไม่ทราบว่าจะรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ แต่ยังไม่มีการกระจายไปทั่ว จากนี้กรมวิทย์ฯ จะถอดรหัสจนสิ้นปี 64 ตั้งเป้า 6 พันตัวอย่าง.