“หมอธีระ” ชี้มาตรการผ่อนคลายเริ่มส่งผล คนเริ่มติดเชื้อเพิ่ม หวั่นซ้ำรอยปีใหม่ แนะทบทวนนโยบายหันมากดการระบาดให้ดี ปรับปรุงรูปแบบการใช้ชีวิต
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยระบุว่า “สถานการณ์ทั่วโลก 10 กันยายน 2564…” อิหร่านแซงอาร์เจนติน่าขึ้นมาเป็นอันดับ 8 ของโลกแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 594,845 คน รวมแล้วตอนนี้ 223,988,471 คน ตายเพิ่มอีก 9,121 คน ยอดตายรวม 4,619,578 คน
5 อันดับแรกที่มีจำนวนติดเชื้อต่อวันสูงสุด ยังคงเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร อินเดีย บราซิล และอิหร่าน
อเมริกา ติดเชื้อเพิ่ม 155,171 คน รวม 41,555,546 คน ตายเพิ่ม 1,889 คน ยอดเสียชีวิตรวม 674,507 คน อัตราตาย 1.6%
อินเดีย ติดเพิ่ม 34,310 คน รวม 33,173,166 คน ตายเพิ่ม 201 คน ยอดเสียชีวิตรวม 441,983 คน อัตราตาย 1.3%
บราซิล ติดเพิ่ม 30,891 คน รวม 20,958,899 คน ตายเพิ่ม 747 คน ยอดเสียชีวิตรวม 585,205 คน อัตราตาย 2.8%
สหราชอาณาจักร ติดเพิ่ม 38,013 คน ยอดรวม 7,132,072 คน ตายเพิ่ม 167 คน ยอดเสียชีวิตรวม 133,841 คน อัตราตาย 1.9%
รัสเซีย ติดเพิ่ม 18,380 คน รวม 7,084,284 คน ตายเพิ่ม 794 คน ยอดเสียชีวิตรวม 190,376 คน อัตราตาย 2.7%
อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิหร่าน อาร์เจนติน่า และโคลอมเบีย ติดกันหลักพันถึงหลายหมื่น
แถบอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา เอเชีย หลายต่อหลายประเทศติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
หากรวมทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ พบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 89.94 ของจำนวนติดเชื้อใหม่ทั้งหมดต่อวัน
แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลักร้อยถึงหลักพัน
แถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักร้อยถึงหลักพัน ยกเว้นอิหร่านติดเพิ่มหลักหมื่นอย่างต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ติดเพิ่มกันหลักหมื่น
ส่วนเมียนมาร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ติดกันหลักพัน กัมพูชา ลาว และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนจีน และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง และไต้หวัน ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ
“…สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานทั้งจำนวนติดเชื้อใหม่ และจำนวนเสียชีวิตเพิ่ม สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก จำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติยังมีมากเป็นอันดับ 7 ของโลก” …ผลลัพธ์ของกล่องทรายและพื้นที่ 7+7 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพื้นที่กล่องทราย และพื้นที่ใกล้เคียง จะมีธรรมชาติที่เราพอจะใช้คาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น หากขยายไปดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ในระยะเวลาถัดจากนี้ไป
“นั่นคือจำนวนการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นชัดเจน หลังจากดำเนินการไปได้ตั้งแต่ 4-8 สัปดาห์ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการระบาดทวีความรุนแรงขึ้นนั้นคือ การมีคนจำนวนมากขึ้น เคลื่อนไหวกันมากขึ้นในพื้นที่ กิจการกิจกรรมต่างๆ นำมาซึ่งการพบปะติดต่อกัน สัมผัสกัน ใกล้กัน บ่อยครั้งขึ้น และนานขึ้น” เหล่านี้คือสิ่งที่เป็นตัว catalyst เร่งปฏิกิริยาของการแพร่เชื้อติดเชื้อที่มีอยู่ในชุมชน ดังนั้นหากดู timeline ของนโยบายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ขยายพื้นที่ไปอีก 5 จังหวัด ก็คงน่าเป็นห่วงยิ่งนัก เพราะธรรมชาติของการระบาดอันเป็นผลลัพธ์จากกล่องทรายและ 7+7 นั้นเป็นตัวสะท้อนให้เห็นอยู่แล้ว
ยิ่งหากสถานการณ์ระบาดทั่วประเทศยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และแต่ละวันยังติดกันหลักหมื่นคน ติดท็อปเท็นของโลก การเปิดกิจการกิจกรรมดังกล่าวคงเป็นไปได้เพียงระยะสั้น และจะเกิดผลกระทบตามมาในเวลาไม่นาน สิ่งที่ควรทำคือ การทบทวนนโยบายดังกล่าว และหันมากดการระบาดให้ดี ใช้เวลาช่วงที่กดการระบาดนั้น ไปขันน็อต ปรับปรุงรูปแบบการใช้ชีวิต การประกอบกิจการกิจกรรมค้าขายและบริการต่างๆ ให้ปลอดภัยไปกว่าที่มีอยู่ “มิฉะนั้นไตรมาสสุดท้ายของปี ปลายปีเป็นช่วงเทศกาลต่อเนื่องไปถึงปีใหม่ อาจซ้ำรอยกับปีที่ผ่านมา”
แต่อย่าลืมว่าศึกนี้มายาวนานมาก ทรัพยากรของทุกคนร่อยหรอไปมาก หากระบาดทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะมากมาย ทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม “ก้าวเมื่อควรจะก้าว…หากเร่งรีบก้าวตอนที่ฝนตกพื้นลื่นรองเท้าที่ใส่ยังไม่เหมาะสม จะพลาดหกล้มเจ็บหนักได้ ด้วยรักและห่วงใย”…
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thira Woratanarat