วันศุกร์, กรกฎาคม 5, 2024
หน้าแรกNEWSผบ.ทร.จัดงานครบรอบ 104 ปีวันพระราชทานธงชาติไทย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผบ.ทร.จัดงานครบรอบ 104 ปีวันพระราชทานธงชาติไทย

กองทัพเรือ จัดกิจกรรม ครบรอบ 104 ปีวันพระราชทานธงชาติไทย ขณะที่ ครม.มีมติให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. พล.ร.อ. ชาติชาย  ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน ประจำปี 2564 ในส่วนของกองทัพเรือ ณ บริเวณเสาธงหน้าอาคาร ส่วนบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน 2564 ซึ่งครบรอบ 104 ปี สำนักนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้หน่วยงานต่างๆ จัดกิจกรรมประดับธงชาติไทยตามอาคารสถานที่ราชการ สถานศึกษา และอาคารบ้านเรือน พร้อมจัดกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย บริเวณหน้าเสาธงของหน่วยงาน เพื่อความภาคภูมิใจในเอกราชและการเสียสละของบรรพบุรุษไทย ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด 19 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด


นอกจากนี้ ตามหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ หน่วยเฉพาะกิจกองทัพเรือได้ร่วมจัดกิจกรรมโดยพร้อมเพียงกัน และในส่วนของ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม ได้จัดให้มีกิจกรรมเนื่องในวันพระราชทานธงชาติไทย ณ บริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ ด้วยเช่นกัน  ซึ่งบริเวณป้อมวิไชยประสิทธิ์ นับได้ว่าเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ จากจดหมายเหตุบันทึกของเรือรบฝรั่งเศส ระบุว่าธงประจำชาติสยามถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 2223 ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


“ธงชาติไทย” นับเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของชาติ เป็นสิ่งเตือนใจให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงการเสียสละของบรรพบุรุษเพื่อรักษาไว้ซึ่งแผ่นดิน และรวมดวงใจของคนทั้งชาติให้เป็นหนึ่ง หล่อหลอมความรัก ความสามัคคี สร้างเสริมความภูมิใจในความเป็นชาติ ทั้งนี้ ธงชาติของแผ่นดินไทย ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ได้เริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงกำหนดให้ใช้จักร อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ลงไว้กลางธงผ้าผืนแดง สำหรับ ในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างจากเรือราษฎรชาวสยามทั่วไป ที่ยังคงใช้ธงแดงเกลี้ยง มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดให้ทำรูปช้างสีขาวไว้กลางวงจักร เพื่อชักในเรือหลวง

ส่วนเรือราษฎรยังคงใช้ธงแดงเช่นเดิม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้เรือของราษฎรใช้ธงเหมือนอย่างเรือหลวง แต่ให้นำรูปจักรออก เพราะเป็นของสูง คงไว้แต่ช้างเผือกบนพื้นแดง ต่างกันแค่เพียงสีพื้น โดยธงเรือราษฎรมีพื้นสีแดง ส่วนเรือหลวงมีพื้นสีขาบ จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามรัตนโกสินทร์ศก 110 ขึ้น เป็นพระราชบัญญัติธง ฉบับแรกของประเทศไทย โดยธงเรือรบหลวงมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องบนพื้นแดง มีจักรอยู่บนมุมซ้าย ส่วนธงเรือราษฎร เป็นรูปช้างเผือกเปล่าบนพื้นแดง และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก 129 ขึ้นใหม่ โดยแยกเป็น ธงราชการ ธงทหารเรือ และ ธงชาติ โดยแรกเริ่มนั้น ธงชาตินั้นยังมีรูปแบบเหมือนธงเรือราษฎร เรือเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นแดง 


จนกระทั่งในปี 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ออกประกาศเพิ่มเติมแก้ไขพระราชบัญญัติเพิ่มเติม และนำมาสู่การพระราชทาน ธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติ ในวันที่ 28 กันยายน 2460 โดยทรงอธิบายถึงความหมายไว้ในพระราชนิพนธ์ “เครื่องหมายแห่งไตรรงค์” ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธำรงรักษาชาติและศาสนา สีน้ำเงินหมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และสีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระศาสนา อันแสดงให้เห็นถึงการเป็นนักออกแบบชั้นยอด ที่สามารถออกแบบธง ให้มีความหมายรวมถึงสถาบันหลักของแผ่นดิน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสัญลักษณ์บนผืนธงชาติได้อย่างงดงาม ขณะเดียวกันก็ไม่ทรงทิ้งรูปแบบธงเดิมที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของธง ทรงรักษาและให้ปรากฏอยู่บนธงราชนาวี อันเป็นธงชาติอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงความเป็นชาติไทยที่ชักในเรือหลวง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดธงราชนาวีอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับธงไตรรงค์  


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day)  และเริ่มในวันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นครั้งแรก โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักและประดับธงชาติในวันดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน 

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img