“เอ็ตด้า” เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์ เพื่อให้รู้จักหนทางรอดจากปัญหาออนไลน์ รู้ทันกลโกงเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และรู้จักช่องทางร้องเรียนปัญหาดีกว่าบ่นโพสต์อย่างไม่มีทางออก
จากการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center หรือ 1212 OCC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม- เดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน
เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน และยังนับเป็นสถิติเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาจับจ่ายผ่านออนไลน์สูงขึ้น ขณะเดียวกันร้านค้าต่างๆ ก็หันมาเปิดขายบนออนไลน์เช่นกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในยุคตลาดดิจิทัลนี้ วันนี้ เอ็ตด้า จึงอยากชี้ให้เห็น 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์ เพื่อเตือนทุกคน ว่าชอปไหนๆ จะไม่โดนหลอกลวงแบบนี้
กลโกง 1 – “หลอกโอนเงิน” ชวดหนี ไม่มีสินค้าส่งจริง
จากสถิติร้องเรียนมายังศูนย์ฯ 1212 เอง ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าก็มาเป็นอันดับ 1 ถึง 45% ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ แนะนำให้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการตั้งราคาที่ถูกเกินจริง เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่ รวมถึงลองนำชื่อร้านไปค้นหาบนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) ฯลฯ
กลโกง 2 – อ้าวเฮ้ย! “สินค้าไม่ตรงปก” จกตาเกินโฆษณา
ปัญหานี้ศูนย์ฯ 1212 พบการร้องเรียนถึง 29% ในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสินค้า แนะนำให้ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับร้องเรียนได้
กลโกง 3 – “จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม” เอาปากกามาวงได้ทุกตรง
แนะนำให้พิจารณาข้อมูลร้านค้าอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบรหัสสินค้า ใบรับประกันสินค้า ตรวจสอบบัญชีธนาคารก่อนโอน หรือติดต่อซื้อขายที่ร้านค้าทางการ (Official) ดีกว่า
กลโกง 4 – “กลโกงนักรับหิ้วของ” พาเงินปลิว ไม่กลับมา
การรับหิ้วของ หรือการมองหาคนมารับหิ้ว โดยยอมเสียเงินจ้างเพิ่มเล็กน้อยทดแทนการเสียค่ารถออกจากบ้านและความเสี่ยงเข้าไปในย่านชุมชนในยุคโควิด-19 ต้องระวัง ซึ่งก็ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ นี้ขึ้นมา แต่ทั้งนี้เราจะเชื่อใจผู้มาสวมบทรับหิ้วได้อย่างไร ดังนั้นควรตรวจสอบประวัติผู้รับหิ้วให้ดี เลี่ยงการจ้างวานผู้ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวมารับหิ้วให้ หรือสั่งจากร้านโดยตรงจะดีกว่า
กลโกง 5 – เมื่อเหล่าคนโกง มาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน หลอกให้ “เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย”
บางครั้งเหล่ามิจฉาชีพก็มากันเป็นทีม และใช้ความฮิตเรื่องการซื้อของออนไลน์ที่กลายเป็นวิถีปกติของคนยุคโควิด-19 ไปเสียแล้ว มาลวงเหยื่อถึงหน้าบ้าน ล่าสุดทางไปรษณีย์ไทย ออกจดหมายแจ้งเตือน ระวังมิจฉาชีพตีเนียนเป็นผู้คนส่งของ หลอกให้เซ็นรับพัสดุที่อาจเป็นสิ่งของผิดกฎหมาย พร้อมจัดฉากเป็นตำรวจปลอมเข้าตรวจ ดังนั้นเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ แนะให้ตั้งสติก่อน แล้วตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้สั่งของ และห้ามรับสิ่งของที่ไม่ได้สั่งเด็ดขาด
กลโกง 6 – “ได้รับของชำรุด เสียหาย” ฟื้นใจไม่ให้สลายอย่างไร
การซื้อสินค้าออนไลน์อาจถือเป็นความเสี่ยง หากเราไม่ได้ป้องกันความเสี่ยง เช่น สินค้าที่ได้รับชำรุด เสียหาย สาเหตุมาจากต้นทางคือร้านค้า หรือระหว่างทางจากระบบการขนส่ง ดังนั้น แนะนำให้ตรวจสอบกับทางร้านค้าก่อนเป็นอันดับแรก อาจจะให้ร้านค้าช่วยถ่ายรูปส่งมาให้ดู เช็กประวัติการเดินทางของ รวมทั้งเสิร์ชหาข้อมูลการรีวิวการขนส่งสินค้าของร้าน ตลอดจนเช็กบริษัทขนส่งว่ามีการรับประกันความเสียหายหรือไม่ เพื่อเสริมความมั่นใจก่อนซื้อ
กลโกง 7 – “หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์” เสี่ยงดวงรวยแล้ว ยังเสี่ยงเจอคนโกงอีกเหรอ
ซึ่งปัจจุบันก็มีแพลตฟอร์มซื้อขายลอตเตอรีออนไลน์ถูกกฎหมาย เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการไปค้นหาสลากที่มีเลขตรงใจนอกบ้าน แต่การเสี่ยงดวงให้รวย ก็มาพร้อมความเสี่ยงที่จะปะทะกับคนโกงที่มาในรูปแบบตัวแทนขายโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน ดังนั้นควรตรวจสอบข้อมูลตัวแทนที่เชื่อถือได้จริง แหล่งซื้อขายลอตเตอรีออนไลน์ รวมถึงตรวจเช็กเลขบนลอตเตอรีให้ถี่ถ้วน
กลโกง 8 – “โปรไฟล์หลอกเช่าพระบูชา” กลโกงร่างอวตาร
การเช่าซื้อพระบูชา เสริมโชคลาภ เรียกทรัพย์ เป็นมงคลให้ชีวิต ก็ยังเป็นเรื่องราวที่อยู่คู่คนไทยมาเสมอ ซึ่งในวงการคนชอบพระ ก็พบกับปัญหาโดนหลอกลวงจากการซื้อขายออนไลน์เช่นกัน เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ แนะนำให้ตรวจเช็กชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ และเลขที่บัญชีธนาคารให้ดี เพราะแม้มิจฉาชีพจะเปลี่ยนรูปโพรไฟล์บ่อยครั้ง แต่ก็มักใช้เลขที่บัญชีธนาคารเดิม รวมถึงระหว่างซื้อขายในยุคดิจิทัลแบบนี้ ต้องใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์โดยขอวิดีโอคอลล์กับคนขายเพื่อดูพระให้ได้ เพราะบางรายก็พบว่าไม่มีพระอย่างที่โพสต์ หากเจอผู้ขายที่เกิดอาการบ่ายเบี่ยง บอกว่าตอนนี้พระไม่ได้อยู่กับตนเอง คาดการณ์ได้เลยว่า เราอาจกำลังจะโดนโกง
กลโกง 9 – “ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์” กว่าจะได้สินค้าก็สายเสียแล้ว #สภาพ
กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อขายแบบผ่อนชำระทางออนไลน์ จึงควรพิจารณาเอกสารสัญญาซื้อขายที่แจ้งรายละเอียดชัดเจน หรือถ้าซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ควรเลือกร้านที่เป็นทางการ (Official) ดูรีวิวผู้ซื้อต่าง ๆ พร้อมตรวจสอบข้อมูลร้านและบัญชีผู้ขายอย่างรอบคอบ
กลโกง 10 – “คนรักต้นไม้ร้องไห้” หลอกขายไม่ตรงรูป
แนะนำให้ซื้อขายแบบนัดรับกับทางร้านจะดีกว่า และเลี่ยงการโอนเงินมัดจำก่อน ขณะเดียวกันไม่ว่าจะซื้อต้นไม้ราคาถูกหรือราคาแพง สิ่งที่แนะนำคือควรเลือกร้านขายที่โพสต์รูปต้นไม้พร้อมมีป้ายระบุชื่อต้นไม้ หรือร้านที่เจ้าของร้านถ่ายภาพคู่ต้นไม้ จะเป็นการช่วยยืนยันเบื้องต้นได้ว่า ร้านและเจ้าของร้านนี้มีอยู่จริง รวมถึงสามารถเสิร์ชค้นหาข้อมูลร้านหรือโพสต์ถามเพจกลุ่มซื้อขายต้นไม้เพื่อย้ำเครดิตของร้านว่าเชื่อถือได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากตกเป็นเหยื่อไปแล้วสามารถร้องเรียนและปรึกษาปัญหาได้ที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center) หรือ “1212 OCC” โดย เอ็ตด้า ที่มีบริการรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คำแนะนำและประสานความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วที่สุด