กรมชลฯเร่งผลักดันน้ำเหนือลงทะเล รับมือน้ำทะเลหนุนสูงสุดวันที่ 10 ต.ค.นึ้ ระดับน้ำเจ้าพระยาสูง 50 ซม.เตือนจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ท่วมเนื่องจากพื้นที่ลุ่มต่ำ
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 15 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี พระนคร ศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง อุบลราชธานี พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ขอนแก่น ชัยนาท สุพรรณบุรี และ อุทัยธานี ซึ่งกรมชลประทานเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกให้เร็วที่สุด พร้อมกันนี้นำผลวิเคราะห์และคาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งแนวโน้มของอิทธิพลพายุของกรมอุตุนิยมวิทยามาประกอบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสักปริมาณน้ำเหนือลดลงแล้ว จะทยอยปรับลดการระบายน้ำสู่พื้นที่ตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณรอบทุ่ง
อย่างไรก็ตาม วันนี้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,749 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 2,788 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายน้ำ 901 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นควบคุมให้น้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก สูง สุดในอัตรา 762 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้เช้านี้ (6.00 น.) น้ำไหลรวมกันผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรี อยุธยา 3,104 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งไม่เกินความจุของลำน้ำที่รับได้ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 10 ต.ค. 2564 จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุด คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 ซม. บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เสริมเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายออกทะเล
นอกจากนี้ยังใช้ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อตัดยอดน้ำหลาก โดยลุ่มน้ำยม-น่าน ผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำ 400 ล้าน ลบ. ม.ส่วนทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับน้ำแล้วรวม 978 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% จากแผนที่กำหนดไว้ 1,454 ล้าน ลบ.ม. สาเหตุที่ยังไม่ได้รับน้ำเข้าทุ่ง 100% ตามแผนเนื่องจากยังมีนาข้าวที่รอเก็บเกี่ยวอีก 121,000 ไร่หรือ 11.8 % ของที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งเมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวหมดแล้ว จะพิจารณารับน้ำเข้าจนเต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นการเตรียมแปลงสำหรับเพาะปลูกพืชน้ำน้อยในช่วงหน้าแล้งได้อีกด้วย
ในส่วนลุ่มน้ำชี–มูล น้ำที่ระบายจาก จ.ชัยภูมิ ลงแม่น้ำชีเคลื่อนตัวมาถึงเขื่อนชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น แล้วเอ่อล้นตลิ่ง ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำมากถึง 85.44% จึงต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและชี ตามลำดับ จึงทำให้น้ำท่วมสูงใน จ. ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวมทั้งต้องเฝ้าระวัง จ. มหาสารคาม ยโสธร และศรีสะเกษ ด้วย เนื่องจากน้ำที่ระบายจาก จ.นครราชสีมา ลงแม่น้ำมูลเคลื่อนตัวมาผ่าน จ.ศรีสะเกษ แล้ว แล้วจะไหลไปที่ จ.อุบลราชธานี
ล่าสุด ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) รายงานว่า ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 อ. เมืองอุบลราชธานี เวลา 06.00 น. อยู่ที่ +112.49 ม.รทก. อัตราการไหล 2,594 ลบ.ม.ต่อวินาที สูงกว่าตลิ่ง 49 เซนติเมตร โดยทรงตัวมา 2 วันแล้ว เนื่องจากเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงได้มากถึง 2,811.23 ลบ.ม.ต่อวินาทีหรือวันละ 242.89 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ลำน้ำสามารถรับปริมาณน้ำสูงสุดที่จะมาถึงในอีก 10-15 วันได้ โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุด