วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightกรมวิทยาศาสตร์ฯ ยัน''เดลต้า''ในไทย 97.5% ขณะที่พื้นที่ใต้เจอ 3 สายพันธุ์
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยัน”เดลต้า”ในไทย 97.5% ขณะที่พื้นที่ใต้เจอ 3 สายพันธุ์

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ยันโควิดเดลต้ายังครองไทย ร้อยละ 97.5 อัลฟ่าร้อยละ 2.2 ส่วนสายพันธุ์เบต้าร้อยละ 0.3 พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น

เมื่อวันที่ 11ต.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิทยาศาสตร์ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 500 ตัวอย่าง พบภาพรวมทั้งประเทศสายพันธุ์เดลต้าครองพื้นที่ระบาดมากสุด ร้อยละ 97.5 ยังเหลือสายพันธุ์อัลฟ่าอยู่บ้างที่ร้อยละ 2.2 ส่วนสายพันธุ์เบต้ามีเพียงร้อยละ 0.3 ซึ่งพบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น

“เนื่องจากเบต้าอำนาจในการแพร่เชื้อไม่เร็ว สัปดาห์ที่แล้วพบผู้ติดเชื้อเบต้าที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา จังหวัดละ 1 รายเท่านั้น ซึ่งภาพรวมเฉพาะภาคใต้ เชื้อเดลต้าระบาดร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม การตรวจเชื้อในภาคใต้ยังน้อยไปเมื่อเทียบกับสถานการณ์ระบาดปัจจุบัน จึงได้ประสานจังหวัดชายแดนใต้ตรวจหาเชื้อเพิ่ม เพื่อดูสัดส่วนสายพันธุ์ในภาคใต้แต่ละจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพื่อให้คาดสถานการณ์ได้ถูก เพราะหากพบว่าสายพันธุ์เบต้าเพิ่มขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องดื้อวัคซีนได้” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรณีมีการพูดถึงประสิทธิภาพชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ที่รัฐบาลแจกฟรีให้ประชาชนตรวจด้วยตนเองว่าให้ผลลบลวงมาก จนไม่มั่นใจในการใช้นั้น ยืนยันว่าการที่มีผลลบลวงไม่ได้เกิดจากคุณภาพชุดตรวจยี่ห้อนั้นๆ แต่เป็นข้อจำกัดของ ATK อยู่แล้ว ที่ความไวในการตรวจน้อยกว่าการตรวจด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ที่ทุกคนรู้กันอยู่แล้ว หากแยงจมูกเองไม่กล้าแยงลึกให้ได้ระดับ ไม่กล้าปั่นวนตามข้อแนะนำการใช้ ใส่น้ำยาน้อยเกินไป หรือตรวจในเวลาที่ปริมาณเชื้อน้อย คือตรวจเร็วไปเชื้อยังไม่มาก หรือนานไปจนเชื้อเหลือแต่ซาก ATK ก็จะตรวจไม่เจอ ไม่เหมือนกับอาร์ที-พีซีอาร์ ที่ตรวจได้แม้ปริมาณเชื้อน้อย หรือซากเชื้อ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ข้อแนะนำการใช้ ATK ต้องให้ตรวจซ้ำอีกใน 3-5 วันหลังจากที่ครั้งแรกให้ผลเป็นลบ

“ดังนั้น ไม่มีชุดตรวจเทพ ชุดตรวจมารอะไรทั้งนั้น แต่เป็นข้อจำกัดความไว ขอให้เข้าใจตรงกัน ชุดตรวจที่รัฐแจกให้จึงยังใช้ได้ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19” นพ.ศุภกิจกล่าว

ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์อื่น หรือแม้แต่สายพันธุ์มิว ฯลฯ ไทยพบเพียง 3 สายพันธุ์ ซึ่งทุกสายพันธุ์ ณ ขณะนี้ยังไวกับวัคซีนอยู่ จึงขอให้ประชาชนรีบไปรับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ชุดตรวจ ATK ให้พบเชื้อ คือควรใช้ในตอนที่เริ่มมีอาการไข้ เจ็บคอ อย่างไรก็ตาม การที่คนไปฉีดวัคซีนมีอัตราครอบคลุมสูงขึ้น ทำให้เมื่อติดเชื้ออาการจึงน้อยลง และมีปริมาณเชื้อน้อย เป็นอีกสาเหตุที่การตรวจด้วย ATK เจอผลบวกน้อยลง

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img