กรมวิทย์ฯ แถลงเดลต้าพลัส AY.1 พบที่กำแพงเพชรและระหว่างการสอบสวนโรคหาที่มาของเชื้อ ไม่ใช่สายพันธุ์’’AY.4.2’’ที่พบในอังกฤษ
เมื่อวันที่ 26 ต.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในไทย ว่า ได้มีการสุ่มตรวจเชื้อกลายพันธุ์ พบว่า ในระยะหลังการแพร่ระบาดในประเทศไทยยังคงเป็นสายพันธุ์เดลต้า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจเชื้อ 1,000 กว่าราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 98.6 ส่วนใน 4 จังหวัดใต้ หลังจากมีการตรวจตัวอย่างเชื้อมากขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 90.3 สายพันธุ์อัลฟ่า ร้อยละ 4.7 สายพันธุ์เบต้า ร้อยละ 5 ทำให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทยตอนนี้เป็นการระบาดของเชื้อเดลต้าเป็นหลัก ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ เริ่มพบน้อยลง
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีสายพันธุ์พลัสนั้นเป็นส่วนของสายพันธุ์เดิม แต่มีการเติมของการกลายพันธุ์บางส่วนขึ้นมา ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ย่อยโดยการพบเดลต้าพลัสที่ต้องจับตา คือมีการกลายพันธุ์ตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งที่หลบภูมิคุ้มกันได้ และอาการอาจจะมีอาการมากกว่าเดิม ซึ่งการตรวจพบเกิดขึ้นในระบบเฝ้าระวังและสามารถตรวจจับได้
นอกจากเดลต้าพลัส ก่อนหน้านี้ยังตรวจพบ อัลฟ่าพลัส มาก่อน โดยพบ 2 รายเป็นผู้ต้องขัง โดยเก็บตัวอย่างวันที่ 27 เดือนกันยายน อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค และพบในภาคตะวันออก จันทบุรี และตราด จากการตรวจสายพันธุ์ 1,119 ตัวอย่าง พบ 16 ราย แบ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ 12 ราย และคนไทย 4 ราย ทั้งหมดทำงานในล้งลำไย โดยมีการเก็บตัวอย่างในวันที่ 9-10 เดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการรายงานระบบข้อมูลทั่วโลก สายพันธุ์ที่พบในไทย มีลักษณะทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชาอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้อธิบายถึง การกลายพันธุ์อัลฟ่าพลัสว่าเป็นการพบบนสไปรท์โปรตีน โดยพบได้ในสายพันธุ์เบต้าและแกมม่าเช่นเดียวกันปัจจุบันพบการแพร่ระบาดอยู่ในประเทศกัมพูชา โดยไม่ใช่เชื้อใหม่ แต่พบเจอมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งเจอที่ประเทศอังกฤษประเทศแรก
ส่วนเดลต้าพลัส ข้อมูลจากทั่วโลกมีการกลายพันธุ์ย่อยในสายพันธุ์เดลต้าหลายสายพันธุ์ย่อย ตั้งแต่ AY.1 – AY.47 อย่างที่พบในประเทศอังกฤษ คือเดลต้าพลัส AY.4.2 ขณะที่ประเทศไทยสามารถตรวจพบ 18 สายพันธุ์ย่อยของเดลต้า ส่วนที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ ในประเทศไทย คือ การพบเดลต้าพลัส AY.1 ในตำแหน่ง K417N จำนวน 1 ราย จากจ.กำแพงเพชร อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพิ่มเติมเพื่อหาที่มาของเชื้อ ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าความรุนแรงของโรคจะมากน้อยกว่าเดลต้าพลัสที่พบจากทั่วโลกหรือไม่
นพ.ศุภกิจ อธิบายเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ในระบบประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังและตรวจพันธุกรรมทั้งตัว สัปดาห์ละประมาณ 400-500 ตัวอย่าง เบื้องต้น เดลต้าพลัส AY.1 ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าหลีกหนีภูมิคุ้มกันได้ และความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือดื้อวัคซีน ยืนยันวัคซีนโควิด-19 ยังจัดการได้ แต่ที่ต้องจับตาคือเดิมเคยระบาดในยุโรปมาก่อน แต่ไม่ได้มีความรุนแรงของโรคที่เป็นนัยยะสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากทั่วโลก พบว่า เชื้อโควิค-19 ในเรื่องของความรุนแรงของโรคลดลง แต่อาจจะยังมีการแพร่ระบาดได้ก็ตาม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่สุดท้ายแล้วเชื้อโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่อาจจะมีอาการป่วยได้บ้างและรักษาได้