รัฐบาลเอาจริง สั่งกรมประมงเร่งเยียวยาเรือประมงออกนอกระบบ เข้มข้นมุ่งความยั่งยืนแก้ปัญหา IUU อย่างเป็นระบบมากกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุม 301 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามขับเคลื่อนแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU ) และผลกระทบสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยที่ประชุมรับทราบและติดตามขับเคลื่อนการแก้ปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และการแก้ปัญหานำเรือประมงออกนอกระบบ โดยเฉพาะการเยียวยา กลุ่มเรือประมงสีขาว (ไม่เคยทำผิดกฎหมาย ) จำนวน 75 ลำ วงเงินช่วยเหลือ 490.8 ล้านบาท
รวมทั้ง การดำเนินงานบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะ มาตรการเร่งรัดการดำเนินคดีตามกฏหมายว่าด้วยการประมง และการอุดหนุนประมง ( Fisheries subsidies ) ภายใต้องค์การการค้าโลก ( WTO ) ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยรัฐ แก่ผู้ประกอบการ ธุรกิจ หรือ กลุ่มอุตสาหกรรม กับกลุ่มที่ทำประมงถูกกฎหมาย โดยร่วมกันกำหนดท่าทีการเจรจาของไทยที่เหมาะสมกับการอุดหนุนประมงดังกล่าว
ต่อจากนั้นได้เห็นชอบ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงและแรงงานในภาคประมง เพื่อติดตามเร่งรัดแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายรวมทั้งความเดือดร้อนของผู้ปกครองการประมงในทุกภาคส่วน
พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำนโยบายด้านการประมงของไทย มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนแก่ภาคการประมง ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาคการประมงโดยมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการ บริหารจัดการประมงภายใต้แผนบริหารจัดการประมงทะเลไทย โดยไม่สนับสนุนและต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย
รองนายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับให้กรมประมงลงไปดูปัญหาชาวประมงในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง เร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจังและให้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายทราบต่อเนื่อง สำหรับการนำเรือประมงออกนอกระบบ เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ขอให้กรมประมง เร่งจัดทำโครงการเพื่อเสนอของบประมาณกลางปี 65 ให้ทัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมง พร้อมให้เข้มบังคับใช้กฎหมายจริงจัง โดยเฉพาะการตรวจตราเรือเข้าออกจากท่า (PIPO ) รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินคดี กรณีตรวจพบการกระทำความผิดโดยศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมง ( FMC ) ให้มีขั้นตอนที่รวดเร็วขึ้น โดยให้ประสานการทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ให้ประสาน EU ปรับการประชุมหารือร่วมกันให้เร็วขึ้น ตามที่ได้รับการประสาน เพื่อแก้ปัญหา IUU ร่วมกันอย่าง ต่อเนื่องจริงจังมากขึ้น