“ก้าวไกล” กร้าวเดินหน้าดันสมรสเท่าเทียม ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.นำไปสู่ทางตัน เชิญทุกพรรคร่วมสานฝันให้เป็นจริง
วันที่ 18 พ.ย.64 ที่รัฐสภา นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. แถลงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่กำหนดการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวนำไปสู่ทางตันของการแก้ไขปัญหาในบ้านเมืองนี้อีกครั้ง คำวินิจฉัยที่ออกมามีนัยยะ 3 ประการ คือ 1.การตีความว่าบทบัญญัติมาตรา 4 และ 5 ของรัฐธรรมนูญที่พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่หากใครจะเข้าถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างจำเพาะเจาะจง ถ้าไม่ได้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้รับการคุ้มครอง 2.บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในมาตรา 27 เขียนหลักการรองรับความเสมอภาคระหว่างเพศก็จริง แต่มีวรรคหนึ่งระบุว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และศาลไม่เห็นว่าวันนี้เพศไปไกลกว่าคำว่าชายและหญิง จึงเป็นเหตุที่นำมาสู่การตีความว่าบทบัญญัตินั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า 3.กรณีการคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐจะต้องไปตรากฎหมายหรือออกบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อ แต่วิธีคิด มุมมอง การเขียนคำวินิจฉัยที่จะออกมาในท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ขอยืนยันว่าถึงทางตันแล้ว ดังนั้นพรรคก้าวไกลยังยืนหยัดและเดินหน้าผลักดันให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 69 มาตรา ตามที่เราได้ยื่นไปก่อนหน้านี้ เพราะเราเชื่อมั่นว่าอำนาจการออกกฎหมายเป็นของรัฐสภา อำนาจการออกกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนเป็นของประชาชน
ด้านนายธัญวัจน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะเดินหน้าเรื่องสมรสเท่าเทียมต่อไปผ่านกลไกรัฐสภา ขณะนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมีคนเข้ามาให้ความคิดเห็นมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย จำนวน 54,443 คน โดยตอนนี้บรรจุอยู่ในวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หลักการสำคัญของพรรคก้าวไกลคือยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน วันนี้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม 30 ประเทศทั่วโลก กำลังโอบรับความหลากหลาย ตนรู้ว่าทางเดินอีกยาวไกล แต่หน้าที่ของ ส.ส. คือต้องทำให้ความฝันนี้เกิดขึ้นจริง ขอเชิญชวนทุกพรรคที่เชื่อในความเท่าเทียม เชื่อในความหลากหลาย ร่วมสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม ที่จะเข้าสู่การประชุมของสภาฯ