“อนุทิน” ห่วงสุขภาพจิตคนไทยพุ่งเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่ม 10 เท่า มอบกรมสุขภาพจิตเร่งค้นหา ดูแล ลดอัตราการฆ่าตัวตาย อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยยอดฆ่าตัวตายสำเร็จ 8 ต่อแสนประชากร มีเวลา 1 ปีทองเร่งอัดวัคซีนใจ เปิดเพิ่มคู่สายสายด่วน 1323 จัดระบบให้คำปรึกษาในองค์กร สถานศึกษา
เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่กรมสุขภาพจิต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวในงานแถลงข่าว “ถอดรหัสนวัตกรรมวัคซีนใจในชุมชน 2564” ว่า การระบาดของโรคโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจ เศรษฐกิจ สังคม ทำให้ประชาชนมีความเครียด ซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ซึ่งเราจะปล่อยผ่านทำให้ปัญหานี้ลถกลาม ขยายตัวต่อไม่ได้ เพราะแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตกราฟอยู่ในขาขึ้น จึงต้องเร่งเข้าดูแล เบื้องต้นให้มีการสำรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยง เครียด พื้นที่ยากลำบากเป็นต้น ทั้งนี้การจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพใจที่ดี ไม่เครียด อันดับแรกคือเราต้องทำให้สุขภาพกายดี ปลอดภัยจากโรคก่อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็ทำอย่างเต็มที่ มีมาตรการควบคุมป้องกันโรค เร่งฉีดวัคซีน และเพิ่มการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดทำแผนดูแลสุขภาพจิตประชาชนให้ลงถึงระดับชุมชนตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาด ด้วยการสร้างพลังใจตั้งแต่เม.ย. ปี 2563 ประสบความสำเร็จใน 633 ชุมชน จากนี้จะมีการขยายการสร้างเสริมวัคซีนใจในชุมชนเพิ่มเติมใน 4 จังหวัดตัวแทนของ 4 ภูมิภาค คือลำพูน กาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช และนครสวรรค์ เป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายให้น้อยกว่า 8 ต่อ แสนประชากร
ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แรกเริ่มของการมีโควิด -19 การสำรวจความเห็นพบว่าคนมีความคิดฆ่าตัวตายยังต่ำ อยู่ที่ 0.7-0.8% แต่ในช่วงเดือน ส.ค.ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดมีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหมื่นรายต่อวัน อัตราการเสียชีวิตหลายร้อยรายต่อวัน พบว่าผู้ตอบคำถามเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า หรือประมาณ 7-8 % และมีแนวโน้มสูงขึ้น สอดคล้องกับที่มีรายงานข่าวการฆ่าตัวตายผ่านสื่อต่างๆ สัปดาห์ละ 3-4 เหตุการณ์
ที่น่าตกใจคือพบลักษณะการทำร้ายคนอื่น ก่อนทำร้ายตัวเองตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น ต้องขอบคุณสื่อที่เสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่เสนอวิธีการฆ่าตัวตาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลอกเลียนแบบตามมา และอีกเรื่องที่ต้องทำคือเฝ้าระวังเข้มข้น และดักจับตั้งแต่ต้นทางที่พบความเสี่ยง
“อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยเดิมอยู่ที่ 6-7 ต่อแสนประชากร กลับพบว่าตอนนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งเรามุ่งหวังว่าจะต้องรักษาไม่ให้เกิน 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของทั่วโลกจะเหมือนกันคือสูงขึ้นหลังวิกฤติประมาณ 6 เดือนเป็นต้นไปประมาณ 1 ปี เป็นจุดสูงสุดของปัญหา ดังนั้นตั้งแต่ ส.ค. 2564 – ส.ค. 2565 เป็นเวลาทองที่เราต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายสุงไปกว่านี้” พญ.อัมพร กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตอนนี้เราพยายามทำทุกวิถีทางในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยเพิ่มคู่สายสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และพยายามให้หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่มีสมาชิกมีความเครียด เช่นในมหมาวิทยาลัย สถานศึกษา ที่เราพบว่านิสิต นักศึกษามีความเครียดมากขึ้น เพราะจากการตอบแบบสอบถามพบเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 10 เท่า เช่นกัน
ดังนั้นจึงพยายามให้มีระบบให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตในองค์กรต่างๆ มีสายด่วน มีผู้ให้คำปรึกษา มีนักจิตวิทยา แม้แต่ในกระทรวงต่างๆ โดยการให้คำปรึกษามีทั้งระบบการปกปิดตัวตน และการเปิดเผยตัวตน และการส่งต่อการรักษาด้วย ย้ำว่าบริการสุขภาพจิตต้องเติบโตเพื่อรองรับ และป้องกัน แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต.