กมธ.สาธารณสุข วุฒิฯ ร่อนจม.เปิดผนึกถึง”นายกฯ-อนุทิน-บิ๊กป๊อก”ชะลอโอน รพ.สต. ให้ อบจ. ยก 5 เหตุผล ชงตั้งคกก.ศึกษาผลกระทบ
วันที่ 9 ธ.ค.64 คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ออกเอกสารชี้แจงถึงการส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย สืบเนื่องจากการเร่งรัดถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ของกระทรวงสาธารณสุขจำนวนที่ยื่นความจำนง 3,036 แห่งให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 49 แห่ง ที่พร้อมรับโอน โดยมีการกำหนดเกณฑ์ของ อบจ. เป็นสามระดับ คือ ระดับดีให้ถ่ายโอน รพ.สต. อย่างน้อย 1 แห่ง ระดับดีมากให้ถ่ายโอนอย่างน้อยอำเภอละ 2 แห่ง และระดับดีเลิศให้ถ่ายโอน รพ.สต.ทุกแห่งที่แจ้งความจำนง โดยให้ รพ.สต. ที่เปลี่ยนใจไม่ถ่ายโอนให้แจ้งความจำนงภายใน 7 ธ.ค.64 เพื่อให้ทันการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการ
คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา พิจารณาแล้วเห็นว่า การเร่งรัดดังกล่าวอาจสร้างปัญหาให้กับระบบสาธารณสุข ด้วยเหตุผล ดังนี้
- ข้าราชการสาธารณสุขที่จะถูกถ่ายโอนยังไม่ทราบข้อดีข้อเสียของการถ่ายโอน เพื่อให้เกิดการพิจารณาอย่างรอบคอบ เมื่อบรรจุเป็นงบประมาณไปแล้วการถ่ายโอนจะต้องดำเนินการต่อไป ไม่สามารถยับยั้งได้ ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่จะต้องถูกตัดไปให้ อบจ. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องจัดหา
ที่ทำงานใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ต้องการโอนไปท้องถิ่น นั้น - ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (primany health care) และระบบเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิจะถูกแบ่งแยกออกจากทุติยภูมิและตติยภูมิ ทำให้เกิดปัญหาในการส่งต่อผู้ป่วยทั้งขาขึ้นและข้าลง ซึ่งระบบสาธารณสุขที่พัฒนามาร่วมร้อยปีจะถูกทำลาย เพราะระบบสุขภาพและระบบสาธารณสุขไม่อาจ เป็น stand alone เหมือนบริการสาธารณะอื่น
- พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 กำหนดให้มีแพทย์หนึ่งคนดูแลประชาชน 10,000 คน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขใช้การดูแลเป็นเครือข่าย ใช้แพทย์จากสถานพยาบาลทุติยภูมิและตติยภูมิช่วยดูแล และสร้างแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัวให้ดูแลเมื่อพร้อม แม้ อบจ. จะสามารถจ้างแพทย์เพิ่มได้ แต่ไม่อาจสร้างเครือข่ายให้สมบูรณ์ได้
- ประสบการณ์จากการระบาดของโควิด 19 ในกรุงเทพมหานครที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายเดียวกันเกิดปัญหาอย่างมากในการส่งต่อ เช่นเดียวกับระบบและเครือข่ายปฐมภูมิในต่างจังหวัดที่ประสบความสำเร็จ ในการควบคุมโควิด 19 จาก อสม. รพ.สต. และโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เป็นเครือข่ายเดียวกัน ในอนาคตอาจมีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม ซึ่งอาจสร้างปัญหาในกรณีไม่ได้เป็นเครือข่ายเดียวกัน
- การถ่ายโอนอ้างถึงความจำเป็นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ทั้งที่หลังปี 2542 มีนโยบายสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งซาติ พ.ศ. 2545 รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
ดังนั้น คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา จึงขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการถ่ายโอนดังกล่าว เพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างรอบคอบและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องต่อไป
http://vcloud.senate.go.th/index.php/s/PlTEyaqaRcpuUta/download
หนังสือกราบเรียน นายกรัฐมนตรี
http://vcloud.senate.go.th/index.php/s/vrbcuc3h7mEk46Q/download