“หมอธีระวัฒน์” ชี้โควิดปี 65 จะไม่จบ แต่จะเริ่มใหม่ ถ้าโอมิครอนแทนที่เดลต้าได้ไม่สนิท และเดลต้ายังปรับความรุนแรงขึ้นได้ จะเกิด “คู่หูระบาด” ประกอบร่างใหม่เป็นไฮบริด
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.64 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ข้อความระบุว่า สถานการณ์โควิด 2565 จบหรือเริ่มใหม่? 19/12/64 จบ…ถ้าโอไมครอน มาแทนกลุ่มอื่นได้หมดจด
ทั้งนี้ คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนสามารถกันโอไมครอนได้เพียง 19% และวัคซีนมาตรฐาน ในต่างประเทศสองเข็มลดการติดเชื้อที่มีอาการได้ 30% และประมาณว่าถ้าได้เข็มสามจะได้ 70% แต่บอกไม่ได้ว่าอยู่นานเท่าใด
ทั้งนี้ โดยต้องแบกรับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและมีอาการหนัก ถึงแม้เปอร์เซ็นต์จะน้อยกว่าเดลต้า แต่อธิบายจากจำนวนติดเชื้อมหาศาล และจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เกิดขึ้นจากเดลต้า เดิมที่พักฟื้น ตามวัฏจักรเชื้อโควิด ที่กลายเป็นติดเชื้อโดยไม่มีอาการและต่อมาปรับตัวเป็นรุนแรงใหม่ ดังที่เห็นจากประเทศตะวันตกต่างๆ แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริงที่โอไมครอนแทนที่ได้หมด จะมีภูมิต่อโอไมครอน ทั้งพื้นที่ ทั้งประเทศ
จะไม่จบ….ถ้าโอไมครอนแทนที่เดลต้าได้ไม่สนิท และเดลต้ายังปรับความรุนแรงขึ้นได้ จะเกิด “คู่หูระบาด” (twin endemic) และจะซับซ้อนขึ้นถ้าคู่หูประกอบร่างใหม่เป็นไฮบริด ทั้งนี้ โดยที่โอไมครอนก็นำโคโรนาหวัด 229E เข้ามาควบรวมไปแล้ว และมีเป็นไฮบริด อาจมีศักยภาพในการสร้างความรุนแรงมากขึ้น หรือแม้แต่โอไมครอนเดี่ยวๆ ปรับตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ จะยุ่งยากมากขึ้น ถ้าภูมิจากการติดเชื้อหรือวัคซีนก่อนหน้าที่ไม่ใช่โอไมครอนหรือเดลต้า เบต้า ตรงๆ กลับนำชิ้นส่วนไวรัสเข้าในเซลล์ที่สร้างการอักเสบและเกิดการอักเสบรุนแรงมากกว่าปกติ และอื่นๆ
ทำไม…ไวรัส เก่ง? ในด้านตัวเชื้อ โคโรนาไวรัสมีวิวัฒนาการมาเนิ่นนานด้วยการผันแปรของรหัสพันธุกรรมแต่ละท่อน ซึ่งมีหน้าที่จำเพาะในการเกาะติดที่เซลล์ ในการ กดการต่อสู้ของร่างกายเพื่อเอื้ออำนวยให้ไวรัสสามารถอยู่ได้ในเซลล์และเพิ่มปริมาณได้ ในขณะเดียวกันเข้าไปควบคุมเซลล์เจ้าบ้านให้เอื้ออำนวยพลังงานให้กับไวรัสโดยไม่สามารถขจัดไวรัสออกจากเซลล์ได้ (incomplete autophagy) และในขณะเดียวกันรบกวนการใช้พลังงานในเซลล์จนกระทั่งเกิดภาวะพลังงานล้มเหลว (bioenergetic failure)
นอกจากนั้น มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มจำนวนโดยผ่านทาง เอนไซม์ และที่สำคัญก็คือมีท่อนรหัสพันธุกรรมที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างการอักเสบ ที่รุนแรงเกินควร ผ่านระบบ innate และโยงใยไปถึงการที่มีเลือดข้น เส้นเลือดตันเส้นเลือดอักเสบ อวัยวะหลายส่วนเสียหาย
ส่วนสำคัญที่ไม่สามารถอธิบายจากรหัสพันธุกรรมของไวรัสเท่านั้นเป็นกลไกเหนือยีน (epigenetics) และเป็นตัวกำหนดตำแหน่งแห่งที่ ที่ไวรัสสามารถอยู่ได้โดยบรรพบุรุษของโคโรนา จะอยู่ในลำไส้ และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาอยู่ในระบบทางเดินหายใจจนกระทั่งถึงถุงลมและพัฒนาเข้าเลือดรวมกระทั่งถึงเม็ดเลือดขาว
ทั้งนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สู้กับระบบปกป้องไวรัสของร่างกายของเนื้อเยื่อนั้นๆ คือ ZAP หรือ Zinc finger antiviral protein และ APOBEC3G ที่มีประสิทธิภาพมาก ในปอด เม็ดเลือดขาว
จุดที่ยังเป็นปริศนา กำเนิดของโควิดไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามาจากสัตว์ป่าเพราะเชื้อที่ได้จากสัตว์ป่าไม่มีคุณสมบัติพอที่จะติดเชื้อในมนุษย์และก่อโรคได้อย่างแพร่หลาย เป็นการเพิ่มเติมดัดแปลงไวรัสที่อยู่ในสัตว์ป่าที่มีมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และทำให้การระบาดไม่สามารถหยุดยั้งได้แม้จะผ่านไปสองปี