สสส. เปิดเวที “Thaihealth Watch 2022” เจาะลึก 10 เทรนด์สุขภาพคนไทย ปี 65 บนแนวคิด ‘Adaptive Living’ ปลุกคนไทยเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพรอบด้าน
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ บริษัท ไวซ์ไซท์ ประเทศไทย จำกัด และภาคีเครือข่ายภาควิชาการ แถลงข่าว “Thaihealth Watch 2022” จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 ภายใต้แนวคิด Adaptive Living : ปรับการใช้ชีวิต พร้อมก้าวไปในยุคโควิด-19 กับเทรนด์สุขภาพ ปี 65
โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย มุ่งสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาดูแลสุขภาพ โดยจัดทำ 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 ให้ครอบคลุม สุขภาวะทั้ง 4 มิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม พัฒนาองค์ความรู้โดยใช้หลักการ 3S ได้แก่ 1.Situation สถานการณ์สุขภาพคนไทย ปี 2563–2564 สถิติ ทิศทาง หรือแนวโน้มของปัญหาที่เกิดขึ้น 2.Social Trend กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ ที่สะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพของคนไทย และ 3.Solution ข้อแนะนำ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อตรวจสอบข่าว โคแฟค มาตรการชุมชนเพื่อชุมชน Home-Community Isolation หลักสูตรเลี้ยงลูกออนไลน์ NET PA-MA และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสังคม อาทิ จัดตั้งสภาลมหายใจภาคเหนือ ผลักดันร่างกฎหมายอากาศเพื่อสุขภาพ ลดปัญหามลพิษทางอากาศ สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านถุงยางอนามัย (พ.ศ. 2563-2573) ลดปัญหาท้องไม่พร้อม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง หากประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อ-แพร่เชื้อ ไม่รักษามาตรการป้องกันโควิด-19 อาจส่งผลให้สถานการณ์ในปี 2565 ของประเทศไทยแย่ลง การดำเนินชีวิตในยุคโควิด-19 จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และปรับตัวให้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ปลอดภัยและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สสส. จึงมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ให้คนไทยนำไปปรับใช้ในการเตรียมพร้อมรับมือและเดินหน้าต่อในยุคโควิด-19” ดร.สุปรีดา กล่าว
นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า 10 ประเด็นทิศทางสุขภาพปี 2565 ทั้ง 4 มิติ ประกอบด้วย กาย มี 3 ประเด็น ได้แก่1.จับตาโควิดกลายพันธุ์ ดูแลสุขภาพอย่างไรเมื่อต้องอยู่กับโควิด-19 สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พร้อมเรียนรู้ และปรับตัว
2.ดูแลสุขภาพใกล้-ไกล ห่วงใยทุกกลุ่มประชากร ส่งเสริมโอกาสคนในชุมชนดูแลกันเอง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ลดภาระของระบบสาธารณสุข 3.สร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดโภชนาการขาด-เกิน พบกลุ่มคนด้อยโอกาส คนไร้บ้าน เข้าไม่ถึงแหล่งอาหาร ขณะเดียวกัน กลุ่มเด็กที่เรียนออนไลน์ รับประทานอาหารเดลิเวอรี่ที่ให้พลังงานเกิดความจำเป็น เช่น เค้ก คุ้กกี้ ครัวซองต์
จิต มี 2 ประเด็น ได้แก่ 1.เลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างไรในยุคโควิด ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยจิตวิทยาเชิงบวก เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง โรงเรียน ชุมชน และสังคม 2.เมื่อ “บ้าน” ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ชุมชนและสังคมต้องร่วมกันเฝ้าระวัง
นางเบญจมาภรณ์ กล่าวว่ามิติของ ปัญญา มี 1 ประเด็น ได้แก่ รู้เท่าทันสื่อ พ้นภัยกับดักข่าวลวง พบข่าวลวงในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สมุนไพรป้องกันโรค ถึง 17,130 ข้อความ การสร้างทักษะ ‘รู้เท่าทันสื่อ’ คือการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ สังคม มี 4 ประเด็น ได้แก่1.เจ็บต่อเพราะ “พนันออนไลน์” เด็กไทย ร้อยละ 37.6 ถูกหลอกให้เล่นพนันออนไลน์ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 30 ใช้เงินเล่นพนันกว่า 1,000 บาทต่อครั้ง การสร้างค่านิยม จิตวิทยาเชิงบวก และกลไกเฝ้าระวังทางสังคมจึงเป็นมาตรการสำคัญ
2.เด็กไทยใส่ถุงยางเพิ่ม แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังพุ่ง เนื่องจากขาดการใช้ถุงยางอย่างสม่ำเสมอ เพราะเข้าไม่ถึงถุงยาง และค่านิยมของคู่นอน 3.ขยะหน้ากากอนามัย พิษภัยที่กำลังล้นเมือง ควรคำนึงตั้งแต่วิธีการทิ้งขยะโดยการคัดแยก รวมถึงการฆ่าเชื้อแล้วนำไปขุดหลุมฝังกลบ และ 4.อากาศสะอาด สิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน พบการค้นหาข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ถึง 92,647 ข้อความ สะท้อนได้ว่าประชาชนตระหนักถึงปัญหามลพิษทางอากาศ การมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน
“สสส. เตรียมนำเสนอแนวทางการทำงานของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่สามารถช่วยแก้ไข บรรเทา ปัญหาทิศทางสุขภาพ 10 ประเด็นสุขภาพคนไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 เพื่อสร้างความตระหนักรู้และขยายผลการดำเนินงานที่นำไปปรับใช้ได้จริงในยุคโควิด-19 ไปยังหน่วยงาน พื้นที่ต่างๆ ให้กว้างขวางมากขึ้น เช่น โครงการพัฒนากลไกการเข้าถึงบริการสุขภาพและเสริมสร้างสุขภาวะผู้หญิงชาติพันธุ์ โครงการห้องเรียนสู้ฝุ่น โครงการปทุมวันโมเดล โครงการปันอาหารปันชีวิต โครงการปันกันอิ่ม โครงการตามสั่ง-ตามส่ง สู้ภัยโควิด-19 คู่มือวัคซีนสู้โควิด คู่มือชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา คู่มือการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน คู่มือการสร้างและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยทางสังคมโดยชุมชน คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ คู่มือการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจดาวน์โหลดข้อมูล Thaihealth Watch 2022 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2565 ได้ที่เว็บไซต์ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/thaihealth-watch