“หมอมนูญ’’เตือนการแยกตัว กักตัวนานเกินไปทำให้เกิดกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน แนะควรลดวันแยกกักตัวตามคำแนะนำของ CDC สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.64 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ว่า เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายได้รวดเร็วมาก ขณะนี้เชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนแซงหน้าสายพันธุ์เดลต้าแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โชคดีที่ความรุนแรงของโรคลดลงมากเมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า บุคลากรทางการแพทย์อเมริกันถึงแม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ยังติดเชื้อเป็นจำนวนมาก การแยกตัวผู้ติดเชื้อ (Isolation) นานทำให้ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯ ได้ปรับลดคำแนะนำเวลาแยกตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เหลือเพียง 7 วัน จากเดิมที่กำหนดไว้ 10 วัน
CDC ยังลดเวลาแยกตัวชาวอเมริกันทั่วไปที่มีผลตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นบวกที่ไม่แสดงอาการเหลือเพียง 5 วัน แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยเวลาอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออีก 5 วัน แต่ถ้ายังมีอาการขอให้อยู่ในบ้านต่อไปก่อน
นอกจากนี้ ทาง CDC ได้ปรับลดเวลาการกักตัว (Quarantine) สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อลงเหลือเพียง 5 วัน หากคนเหล่านั้นยังไม่ฉีดวัคซีน หรือผ่านการฉีดวัคซีน mRNA ครบ 2 เข็มเกิน 6 เดือนแล้ว และยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทั้งนี้หลังการกักตัว 5 วันแล้วต้องตามด้วยมาตรการสวมหน้ากากอนามัยอย่างเข้มงวดเพิ่มอีก 5 วัน
CDC ระบุด้วยว่า ในส่วนของคนที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว แม้จะมีความเสี่ยงสูงสัมผัสใกล้ชิดกับคนติดเชื้อ ไม่ต้องกักตัว แต่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลา 10 วัน
การตัดสินใจดังกล่าวมาจากองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 คนไข้ส่วนใหญ่จะแพร่เชื้อไวรัสช่วง 1-2 วันก่อนมีอาการ และ 2-3 วันหลังจากมีอาการ และประสิทธิภาพการป้องกันของวัคซีนและวัคซีนเข็มกระตุ้น
การแยกตัว กักตัวนานเกินไป มีผลเสียกระทบหลายอย่าง ทั้งจิตใจ การงาน ชีวิตประจำวัน การให้คืนสู่สังคม กลับมาทำงานเร็วขึ้น เป็นเรื่องที่ดี ประเทศไทยควรลดวันแยกกักตัวตามคำแนะนำของ CDC สหรัฐอเมริกา