“ศรีสุวรรณ” บุกร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบบริษัทใดได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคอหิวาต์
วันที่ 12 ม.ค.65 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายืนคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเป็นที่สงสัยว่าบริษัทใดได้ประโยชน์จากการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทั้งๆที่มีรายงานว่าไทยพบหมูติดเชื้อ ASF ตัวแรกในจ.เชียงรายตั้งแต่ปี 2562 แต่กรมปศุสัตว์กลับไม่ยอมประกาศว่าพบการระบาด อันเป็นข้อพิรุธว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเลี้ยงหมูหรือไม่
ทั้งนี้ การปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์หมู (ASF) ที่ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ล้มหายไปเป็นจำนวนมากแต่กรมปศุสัตว์กลับอ้างเป็นโรคเพิร์ส(PRRS) ซึ่งอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว จึงไม่มีมาตรการออกมารองรับตามที่ พรบ.โรคระบาด 2558 กำหนดไว้ เป็นเหตุให้หมูแพงกว่าเท่าตัว เดือดร้อนกันไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และทำให้สินค้าอื่นๆ ใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกันเป็นทิวแถว
การปิดบังข้อมูลโรคระบาดเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทสามารถส่งออกหมูได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การส่งออกหมูมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นจาก 3,571 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มเป็น 15,863 ล้านบาทในปี 2563 และค่อยลดลงหลังกัมพูชาและเวียดนามตรวจพบว่าหมูจากไทยติดเชื้อ ASF แต่ผลประโยชน์หลักหมื่นล้านบาทนั้น ต้องแลกกับการที่คนไทยต้องซื้อหมูแพงขึ้น กรณีดังกล่าวองค์กรไบโอไทยได้คำนวนจากราคาหมูแพงจากฐานราคาหมูเนื้อแดง 142 บาท/ก.ก. ก่อนพบโรคระบาด และคาดการณ์ว่าราคาหมูจะแพงขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าตัวเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น พบว่าคนไทยซึ่งบริโภคหมูเฉลี่ยคนละ 24 ก.ก./ปี จะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อหมูที่แพงขึ้นอย่างน้อย 200,000 ล้านบาท/ปี ไม่นับความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยนับหมื่นนับแสนรายที่จะต้องออกจากอาชีพ
คาดการณ์ว่าหลังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู จะทำให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลางสูญหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้ควบคุมระบบการผลิต การแปรรูป และการกระจายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ครบวงจรมากขึ้น สามารถกำหนดราคาเนื้อหมูได้ตามต้องการ อันชี้ให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จะมีอำนาจเหนือตลาดมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่าการปกปิดข้อมูลดังกล่าว ทำให้บริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทได้ประโยชน์จากการที่หน่วยงานรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะพรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจำเป็นต้องนำความมาร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอหน่วยงานรัฐตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ตาม รธน.2560 ม.230(2) ประกอบ ม.51 และ ม.59