‘’หมอประสิทธิ’’ ชี้โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่อย่าหาทำ ปล่อยตัวติดเชื้ออาจไม่โชคดี เสี่ยงตายแถมหอบติดคนแก่ที่บ้าน ยังไม่ถึงเวลาลดการ์ด ทั่วโลกเชื่อโควิดยังอยู่ถึงกลาง-ปลายปีนี้ แนะคนไทยใช้ชีวิตวิถีใหม่พร้อมรับมือการระบาดใหม่ ระบุ 20 ปี เจอโรคระบาดใหญ่แล้ว 5 รอบ
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.65 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกว่า จากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน 2 เดือนแล้ว ปัจจุบันกลายเป็นสายพันธุ์หลักของโลก อัตราการติดเชื้อ 2-3 ล้านคนต่อวัน ซึ่งสายพันธุ์ที่ผ่านมาไม่เคยเป็นเช่นนี้ ขณะที่อัตราการเสียชีวิต 5-9 พันคน บางช่วงที่สูงถึง 1 หมื่นรายต่อวัน อย่างไรก็ตามในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะพบว่าแม้อัตราการติดเชื้อสูง แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงตาม เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนนาดา บราซิล สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนประเทศไทยในการระบาดของสายพันธุ์เดลตาถือว่าบริหารจัดการได้ดี เคยมีผู้ติดเชื้อขึ้นไป 2 หมื่นกว่ารายต่อวัน แล้วค่อยๆ ลดลงมาเรื่อย ๆ จากนั้นเชื้อโอมิครอนก็เข้ามา แต่ตัวเลขการติดเชื้อค่อนข้างเป็นเส้นตรง ติดเชื้อวันละ 7-8 พันราย อัตราเสียชีวิตค่อนข้างดี หลัก 20 รายต่อวัน ส่วนการฉีดวัคซีนก็ฉีดไปแล้วกว่า 110 ล้านโดส ประชากร 70 ล้านคน โดย 3 ใน 4 ฉีด 1 โดส และเกือบ 16 % ที่ฉีดเข็ม 3 แล้ว ดังนั้นถือว่าเราไม่ด้อยในการจัดการโควิด -19
ทั้งนี้ ข้อมูลจริงที่ได้จากการระบาดของโอมิครอนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา คือโอมิครอนติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงไปถึงปอด ทำให้อาการไม่รุนแรง เสียชีวิตน้อยกว่าเดลตา แต่การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนทำให้ไอจามบ่อยจึงแพร่เร็วกว่าเดลตา โดยที่ปริมาณไวรัสไม่จำเป็นต้องเยอะ อาการน้อยกว่า ดังนั้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้ตั้งยุทธศาสตร์ว่าหากติดเชื้อไม่มีอาการให้เก็บตัวอยู่ที่บ้าน ผ่านไป 2 สัปดาห์ก็หาย และเกิดภูมิคุ้มกัน การเข้าโรงพยาบาลต้องอาการรุนแรง
นอกจากนี้ยังพบโอมิครอนหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ทำให้ติดเชื้อซ้ำได้ ไม่สามารถเอาอาการที่แสดงออกมาจำแนกว่าเป็นสายพันธุ์ไหนได้ แต่อาการที่พบว่าแตกต่างจากเดลตาคือ โอมิครอน จะน้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ปวดตัว ไอ จาม แต่ไม่ค่อยมีไข้ หรือไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ในเวลานี้ใกล้ที่โอมิครอนจะชนะศึกกับเดลตาแล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสัดส่วนยังเป็น 85% กับ 15 % แต่ ปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้าจะเป็นโอมิครอนมทั้งหมด
คณบดีศิริราชฯ กล่าวต่อว่า มีการศึกษาที่ลอนดอนพบว่าภูมิคุ้มกันที่จะลดการติดเชื้อ ลดความรุนแรงได้ต่อเมื่อฉีด 3 เข็ม ส่วนการฉีด 2 เข็ม นับว่าเป็นการฉีดวัคซีนพื้นฐาน ส่วนระยะห่างจากเข็ม 2 อยู่ที่ 3 เดือน ตัวเลขนี้มาจากการวิจัยที่พบระดับภูมิลดลง แต่ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บอกว่าเราต้องฉีดกันทุกๆ 3-4 เดือน ดังนั้นอย่าเพิ่งคิดแบบนั้น ต้องติดตามสถานการณ์ไวรัสต่อไป เชื่อว่า 3-4 เดือน จะมีวัคซีนรุ่น 2 ออกมา ต้องดูว่าจะมีผลบวกอะไรที่เพิ่มจากรุ่นแรก ดังนั้นขอให้ประชาชนฉีดเข็ม 3 แต่ จากเข็ม 3 ไปเข็ม 4 เข็ม 5 นั้นยังต้องติดตาม แต่ยกเว้นบุคลากรการแพทย์ที่มีความเสี่ยงเยอะ ส่วน Long Covid ซึ่งพบกว่า 50 อาการ แต่ยังนิยามไม่ชัดว่าจะต้องอยู่นานเท่าไหร่ อย่างมีงานวิจัยว่าฉีดวัควันครบจะลดอาการเหล่านี้ 50 % และไม่แตกต่างในแต่ละสายพันธุ์
ศ.นพ.ประสิทธิ์ ย้ำว่าการที่โอมิครอนกระจายเร็วแทนที่สายพันธุ์อื่น แต่ตัวมันรุนแรงน้อยกว่า ดังนั้นบ่งว่าเรามีโอกาสสูงที่เข้าสู่ช่วงท้ายการระบาดของโอมิครอน ติดเชื้อเยอะแต่ไม่เสียชีวิตก็เกิดภูมิฯ สุดท้ายจะไปสู่ระยะท้ายของโอมิครอน แต่อย่าหวังภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ ดีที่สุดคือภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ทั้งนี้แม้รู้จักมา 2 เดือน แต่อาจจะยังมีอะไรที่ยังไม่รู้ เร็วเกินไปที่จะเอาการ์ดลง ต่างประเทศคิดว่าโควิดยังอยู่ไปอีกถึงกลางปีหรือปลายปี
ในส่วนของประเทศไทยเราคงไม่กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนช่วงก่อนการระบาด แต่ให้ใช้ชีวิตปกติรูปแบบใหม่ คือล้างมือบ่อยๆ มีพฤติกรรมสุขภาพดีขึ้น ซึ่งวิถีใหม่นี้จะทำให้เราสามารถรับมือกับโรคระบาดใหม่ได้ ซึ่งนับ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาทั่วโลกเจอการระบาดของโรคระบาดใหญ่มาแล้วกว่า 5 ครั้ง คือ ซารส์, ไข้หวัดหมู, เมอรส์ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 35 % , ซิกาไวรัส ซึ่งไม่เสียชีวิตแต่ทำให้เด็กพิการ ศีรษะเล็ก มีปัญหาระบบสมอง และล่าสุดคือ โควิด-19 จากนี้เป็นต้นไปโลกมีโอกาสเจอการระบาดแบบนี้อีก สุขภาพคนสัตว์ สิ่งแวดล้อมแยกออกจากกันไม่ได้ ตราบใดที่โลกยังมีการเปลี่ยนแปลง ร้อนขึ้น มีโอกาสเกิดโรคใหม่ๆ ขึ้นอีกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“วิถีชีวิตใหม่หลายอย่างที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ด้อยกว่าเดิม เราล้างมือบ่อยขึ้น ดูแลสุขภาพดีขึ้น การทำงานที่บ้านก็พิสูจน์แล้วว่าประสิทธิภาพไม่ได้ลดลง แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ประหยัด ดังนั้นอย่าถอยกลับไปเหมือนเดิม อะไรที่ดีแล้ว เราปรับตัวมากว่า 2 ปี ก็ทำต่อ เมื่อเจอการระบาดใหม่เราจะรับมือได้ และเชื่อว่าประเทศไทยทำได้คือการพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน และการพัฒนาวัตถุดิบทนแทนสำหรับทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยเสริมาสร้างเศรษฐกิจยามเกิดโรคระบาดได้เพราะทั่วโลกมีความต้องการหมด.” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว