“สธ.” ชี้สถานการณ์จริงติดเชื้อโควิดน่าห่วง ปอดอักเสบใส่ท่อเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว โอกาสแตะฉากทัศน์สูงสุด ระบุผู้สูงอายุติดเชื้อเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่น เร่งค้นหาฉีดวัคซีนก่อนถึงสงกรานต์
เมื่อวันที่ 4 มี.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงว่าข้อมูลการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – วันที่ 3 มี.ค. ขณะนี้เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเกือบทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเช่นนี้ทั่วโลก ค่าเฉลี่ย 14 วัน 2.2 หมื่นราย วันนี้ PCR พบ 23,834 ราย ด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ทำให้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ปอดอักเสบมีคนต้องเข้ารักษาในรพ. 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ประมาณ 1.5 เท่า เทียบกับเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ส่วนคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมอยู่ในรพ.ประมาณ 184 ราย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. มี 337 ราย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ขยับเพิ่มขึ้น เพราะถึงแม้อัตราการป่วยหนักจนเสียชีวิตจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่เนื่องจากยังมีผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้ยังมีการเสียชีวิตเพิ่ม
ข้อมูลตั้งแต่ 1 มี.ค.-24 ก.พ. มีการติดเชื้อมากในวัยทำงาน โดยวัยทำงาน 20-29 ปี มีสัดส่วนสูงสุด 1,370 ต่อ 1 แสนประชากร กลุ่มที่ติดเชื้อมาแรงคือเด็ก 10-19 ปี และ 0-9 ปี ซึ่งเป็นเด็กวัยแรง แต่การติดเชื้อเยอะในกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการป่วยหนักหรือเสียชีวิต ที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำ แต่กราฟปรากฎว่าเมื่อเกิดการระบาดในชุมชน ในครัวเรือน ทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งอัตราการติดเชื้อน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว แต่อัตราการป่วยเสียชีวิตสูงกว่า โดยอายุ 70 ปี ขึ้นไป ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 3% อายุ 60-69 ปี มีโอกาสเสียชีวิต 0.6% รองลงมาคืออายุ 50-59 ปี ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีโรคประจำตัว โอเสเสียชีวิต 0.2%
สำหรับวันที่ 4 มี.ค.65 เป็นการเสียชีวิต 54 ราย สูงที่สุดในช่วง 2 เดือน 80% เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปอายุน้อยกว่า 60 ปี มี 8 ราย แต่มีโรคเรื้อรัง รวม 95% อีก 5% อายุน้อยกว่า 60 ปี และไม่มีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ข้อมูลที่น่าสนใจคือประวัติการรับวัคซีน ในจำนวนที่เสียชีวิต เกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีน 26 ราย ได้รับเพียง 1 เข็ม 7 ราย ได้รับ 2 เข็มนานเกิน 3 เดือน 3 ราย ดังนั้นหากได้รับวัคซีนครบถ้วนถูกต้องก็จะลดการเสียชีวิตได้ ส่วนที่ได้รับเข็ม 2 ไม่เกิน 3 เดือน และได้รับเข็ม 3 จำนวน 1 รายแน่นอนวัคซีนไม่ได้ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% แต่หากได้รับวัคซีนก็จะลดโอกาสเสียชีวิตได้ ยิ่งปัจจุบันการติดเชื้อในครัวเรือน คนรู้จัก หรือในชุมชน
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.-28 ก.พ. ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบ 2 เดือนแรกเสียชีวิต 928 ราย ไม่ได้ฉีดวัคซีน 557 ราย คิดเป็น 60% ได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม 77 ราย คิดเป็น 8% ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว 271 ราย คิดเป็น 29% และ 3 เข็ม 23 ราย คิดเป็น 2% ยังเหลือยังไม่ได้ฉีดกว่า 2.2 ล้านคน ดังนั้นการเร่งฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตมาก ก็จะลดความเสี่ยงได้มาก โดยหากฉีด 2 เข็มจะมีความปลอดภัยมากขึ้นโอกาสเสียชีวิตลดลง 6 เท่า หากฉีด 3 เข็ม โอกาสเสียชีวิต 41 เท่า เทียบกับคนสูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นหากได้ 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้วขอให้ไปรับเข็ม 3 ช่วง 1 เดือนเศษนี้สำคัญมากก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ เราไม่อยากให้มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจกการติดเชื้อจากลูกหลานที่กลับมาเยี่ยม ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังค้นหา และทะเบียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรับวัคซีน
“จากฉากทัศน์ที่มีการแถลงไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. สถานการณ์ขณะนี้น่าห่วงจริงๆ โดยสถานการณ์จริงสำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบ ต้องใส่ท่อช่วย กำลังขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งดูจากฉากทัศน์แล้วมีโอกาสที่ไทยจะขึ้นไปอยู่ในฉากทัศน์สูงสุดได้ ดังนั้นทุกมาตรการป้องกันการติดเชื้อ การรักษารวดเร็ว มีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อลดโอกาสไม่ให้ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข โดยคาดว่าช่วงพีคน่าจะอยู่ที่ต้นเดือน พ.ค.นี้”นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ขณะนี้นี้อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในแต่ละวัน คาดว่าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเม.ย. หรือประมาณ 19 เม.ย. ประมาณ 50,000 กว่าราย หากไม่คงมาตรการเข้มงวดโอกาสจะเพิ่มไปสู่สีแดงคือจำนวนติดเชื้อเพิ่ม 2 เท่า ส่งผลถึงผู้ป่วยปอดอักเสบ อาการรุนแรงในอีก 2-3 สัปดาห์หลังจากนั้น จากนั้นเดือนมิ.ย.จะค่อยๆ ลดลง’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 28 ก.พ. ได้จำลองฉากทัศน์ หรือคาดการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย 2565 โดยมีคาดว่าในกรณีเลวร้ายที่สุดคือมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดการแยกกัก–กักตัว ฉีดวัคซีนทกเข็มน้อยกว่า 200,000 โดส ประชาชนย่อหย่อนมาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล (UP) จะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราว ๆ วันที่ 19 เม.ย. เกิน 100,000 แสนราย ปอดอักเสบเกือบ 6,000 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ เกิน 1,600 ราย และเสียชีวิตเกิน 250 ราย
แต่หากมีการคงมาตรการต่างๆ และประชาชนร่วมมือในระดับปัจจุบันคาดการณ์พบการแพร่โรคต่อเนื่องไปทุกจังหวัดจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยช่วงพีคจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 40,000 ราย ต่อวัน ปอดอักเสบเกิน 3,000 ราย เกิน 800 ราย และเสียชีวิตเกิน 100 รายและฉากทัศน์ที่เป็นผลจากากรติดเชื้อเพิ่มช่วง ม.ค.-ก.พ. 2565 และเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโรค มี.ค.65 ปฏิบัติตามการเตือนภัยโควิด-19 ระดับ 4 งดการรวมกลุ่ม ทำงานงานที่บ้าน ชะลอการเดินทาง และเร่งฉีดวัคซีนทุกเข็มเกิน 400,000 โดสต่อวัน และปฏิบัติตามมาตรการ VUCA อย่างเคร่งครัด ผู้ติดเชื้อจะมากในช่วงกลางเดือนมี.ค.ประมาณมากกว่า 20,000 ราย และค่อยๆ ลดต่ำลง ปอดอักเสบเกิน 1,000 รายไม่มาก ปอดอักเสบเกิน 400 รายไม่มาก ส่วนผู้เสียชีวิตราวๆ 50 ราย