“ศาลปกครอง” ยันรับรื้อคดีโฮปเวลล์ เข้าเงื่อนไขมีข้อกม.ใหม่ ยกเคสต่างประเทศ รับคำพิพากษาไม่ได้ออกกฎหมายแก้ไขคำพิพากษา ชี้คดีแอสตันจบปีนี้
เมื่อวันที่ 8 มี.ค.65 นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคดีขอเพิกถอนใบอนุญาตโครงการก่อสร้างคอนโดแอสตัน อโศก ที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนไปแล้ว ว่า ขณะนี้คู่กรณี 2 ฝ่ายมีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลได้ให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นคำให้การ และข้อโต้งแย้ง อยู่ระหว่างสรุปสำนวนคดี ซึ่งตนพยายามเร่งรัด แต่ไม่อยากให้มีการไปกดดันจนทำให้เสียความยุติธรรม คาดว่าคดีจะเสร็จในปีนี้แน่นอน ส่วนที่ประชาชนซึ่งเป็นลูกบ้านจะขอมาเป็นผู้ร้องสอดในคดี ขณะนี้คงไม่สามารถทำได้ เพราะคดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์แล้ว เพราะถ้าจะเข้ามาก็ต้องเข้ามาตั้งแต่ในชั้นศาลชั้นต้นแล้ว
ด้านนายวิษณุ วรัญญู รองประธานศาลปกครองสูงสุด ชี้แจงขั้นตอนการพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ว่า หลังศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่มีมติให้รับรื้อคดีใหม่ คดีก็ต้องไปเริ่มที่ศาลปกครองชั้นต้น โดยจะต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งคดีนี้ไม่ใช่ข้อพิพาท ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท โฮปเวลล์ โดยตรง แต่เป็นกรณีพิพาทว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้กระทรวงคมนาคม จ่ายค่าเสียหายถูกต้องหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลต้องลงไปดูรายละเอียดในข้อพิพาท ระหว่างคมนาคม และบริษัท โฮปเวลล์ ประกอบกับมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับระยะเวลาการฟ้องคดี ก็ทำให้การพิจารณาคดีมีความชัดเจนขึ้น
ดังนั้นการพิจารณาคดีคาดว่าไม่นาน ส่วนการที่กระทรวงคมนาคมจะขอยื่นให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการจ่ายเงินตามคำพิพากษา โดยเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจขององคณะเจ้าของสำนวน แต่โดยระเบียบการบังคับคดีของศาลปกครองข้อที่ 131 เมื่อมีการรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ ก็สามารถงดการบังคับคดีตามคำพิพากษาเดิมได้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เรื่องการรับพิจารณาคดีใหม่ไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องทำอย่างพิเศษมากๆ ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ง่ายๆ อย่างที่มีการเรียกร้องกัน หรือที่มีการพูดกันว่ายื่นมาไม่รู้กี่ครั้ง ศาลก็ไม่รับเสียที่ กฎหมายจึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาคดีใหม่อย่างเคร่งครัด โดยพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 75 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 4 ข้อ คือ 1.มีข้อเท็จจริงใหม่ 2.คู่กรณีแท้จริงไม่ได้เข้ามาในคดี หรือเข้ามาแล้วไม่ได้รับความยุติธรรม 3.มีข้อบกพร่องสำคัญในชั้นพิจารณา 4.มีข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายเปลี่ยนไปในสาระสำคัญ อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งโฮปเวลล์ อยู่ในข้อ 4 นี้ ข้อเท็จจริงไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นข้อกฎหมายที่เปลี่ยนจากวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการนับระยะเวลาการฟ้องคดี
“การพิจารณาคดีใหม่ ในกรณีทั่วๆ ไปเขามักจะไม่ทำกัน เมื่อมีคำพิพากษาออกไปจะผิดจะถูกก็ต้องปฏิบัติตาม วิธีการที่ในต่างประเทศที่เขาจะทำกัน ในกรณีที่รับไม่ได้กับผลของคำพิพากษาจริงๆ เขาจะต้องไปออกกฎหมายแก้ไขหรือลบล้างคำพิพากษา ถ้าเป็นคดีอาญาต้องไปออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งในไทยมักจะกล่าวหาว่าอย่างนี้เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการซึ่งไม่ใช่นะครับ เป็นระบบปกติเพราะว่าศาลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในระบบทั่วไปถ้าสมมติว่าคำพิพากษามีข้อผิดพลาดจะต้องไปแก้ในกระบวนการนิติบัญญัติ ต้องออกกฎหมายมานิรโทษกรรมก็ดี มาแก้ไขผลคำพิพากษาก็ดี ไม่ใช่เป็นการไม่เคารพคำพิพากษาของศาล แต่เป็นการใช้อีกกระบวนการหนึ่งเพื่อบรรเทาผลของคำพิพากษา ในกระบวนการปกครองของเรามีอีกวิธีการหนึ่งคือเรื่องของการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำง่ายๆตามที่เรียกร้องกัน ตามกฎหมายจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการที่จะพิจารณาคดีใหม่ไว้อย่างเคร่งครัดมาก”นายวิษณุ กล่าว