“ดร.อนันต์” เผยทีมวิจัยฮ่องกง พบ ‘โอมิครอน’ มีแนวโน้มอยู่บนพื้นผิว “สแตนเลส-พลาสติก-แก้ว” ยาวนานกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม อาจคงสภาพได้นานถึง 7 วัน แนะล้างมือบ่อยๆ
เมื่อวันที่ 12 มี.ค.65 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุ “ผลการทดลองชิ้นนี้จากทีมวิจัยในฮ่องกงน่าสนใจครับ เปรียบเทียบความเสถียรของไวรัส (ความสามารถที่ไวรัสจะติดเชื้อต่อได้) บนพื้นผิวชนิดต่างๆ ระหว่างโอมิครอน กับ สายพันธุ์ดั้งเดิม
ผลการทดลองชิ้นนี้บอกว่า ไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์จะสูญเสียสภาพการติดเชื้อไประดับนึง (ประมาณ 10 เท่า) เกือบทันทีที่อยู่นอกร่างกายและไปติดอยู่บนพื้นผิวต่างๆ แต่หลังจากนั้นจะเห็นความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์ โดย ‘โอมิครอน’ มีแนวโน้มจะอยู่บนพื้นผิวอย่างน้อย 3 ชนิด คือ สแตนเลส พลาสติก และ แก้ว ที่ยาวนานกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม
ดูเหมือนว่า ‘โอมิครอน’ จะคงสภาพบนพื้นผิวทั้ง 3 ได้นานถึง 7 วัน ในสภาวะความชื้น และ อุณหภูมิที่ทำการทดลองนี้ แต่บนพื้นผิวกระดาษไวรัสเสียสภาพไวกว่า และ อยู่ได้ไม่นานพอๆกัน
การทดลองนี้ไม่ได้เปรียบเทียบไวรัสในสภาวะอยู่ในอากาศ หรือ aerosol ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่โอมิครอนอาจจะอยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ ซึ่งอาจอธิบายความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัสได้ไว และ รวดเร็ว
ข้อสังเกตคือ การศึกษานี้ใช้ปริมาณของละอองฝอยที่มีขนาด 5 ไมโครลิตร ซึ่งใหญ่กว่าละอองฝอยในธรรมชาติมาก ปริมาณไวรัสที่ใช้ก็ค่อนข้างสูง การสูญเสียสภาพของไวรัสประมาณ 10 เท่าหลังเกาะบนพื้นผิว อาจทำให้ละอองฝอยที่มีขนาดเล็กในสภาวะจริง อาจทำให้ไวรัสที่ติดออกมาลดลงไปจนไม่ไปต่อก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะของละอองฝอยที่ปล่อยออกมา และ ปริมาณไวรัสที่ออกมาจากผู้ติดเชื้อ มักไม่สูงเหมือนที่ทำการทดลอง การใส่หน้ากากอมามัยก็จะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยลงไปได้อีก ปัจจัยทั้งหมดนี้อาจจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อประเมินความเสี่ยงครับ … แต่การล้างมือบ่อยๆคงจำเป็นอยู่ดีครับ”