วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“หมอพรทิพย์”จ่อร่วมพิสูจน์รอบสอง พร้อม“แม่แตงโม”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“หมอพรทิพย์”จ่อร่วมพิสูจน์รอบสอง พร้อม“แม่แตงโม”

“หมอพรทิพย์” สอนคดี “แตงโม” อยู่ที่รวบรวมหลักฐานครบถ้วนถูกต้อง แนะผ่ารอบสองตรวจกระดูกรอยตัด จ่อร่วม พิสูจน์พร้อมแม่ 16 มี.ค.ถามทุกประเด็น

วันที่ 14 มี.ค. ที่รัฐสภา พญ. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของน.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ขออายัดศพ เพื่อขอชันสูตรเป็นรอบที่สอง ว่า ตามคำแนะนำที่คุยกับคุณแม่ของแตงโม และทนายความ ว่า การขอทราบผลตรวจศพและตรวจทุกอย่างที่เกี่ยวกับศพจากสถาบันนิติเวช คือดีที่สุด และทราบว่าคุณแม่แตงโมจะไปยื่นวันนี้ เวลา 15.00 น. โดยตนจะไปในนามของคณะกมธ. และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อเข้าไปร่วมดูและจะอธิบายให้ฟังว่าตอบคำถามหมดหรือไม่ เช่น แผลที่ขา หลังจากได้ผลชิ้นเนื้อแล้ว หมอจะทราบได้ว่าโดนใบพัดหรืออะไรกันแน่ หรือถ้ายังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัย เมื่อนั้นก็ควรจะมีการชันสูตรศพใหม่ ซึ่งเป็นสิทธิของเขา และเป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวและมารยาทจะไม่ลงไปเป็นผู้ผ่าชันสูตรศพเอง เพราะตามข้อกฎหมายไม่ได้อยู่ในฐานะที่ทำได้ แต่ตนสามารถให้คำปรึกษาได้ ทั้งในนามคณะกมธ. และการเป็นคนไทยที่เห็นความไม่ยุติธรรม ถ้าตราบใดที่ตนยังมีลมหายใจจะขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้ได้ ส่วนจะเป็นที่ปรึกษาผ่าพิสูจน์ศพรอบสองได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่อาจจะติดต่อมาเพื่อตั้งเป็นที่ปรึกษาก็ได้ แต่ส่วนตัวเมื่อเห็นว่าประชาชนคนใดเดือดร้อน ถ้าช่วยได้ก็จะช่วย

เมื่อถามต่อว่าเมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ผลชันสูตรจากหน่วยงานภายนอกระบุว่าบาดแผลที่ขาเกิดก่อนเสียชีวิต บ่งชี้อะไรได้บ้าง พญ. คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า อย่างแรกอยากให้ทุกคนไปดูที่ต้นตอข่าวก่อนว่าใครเป็นผู้ให้ข่าว ผู้ผ่าศพหรือผู้ที่ตรวจชิ้นเนื้อ เพราะในประเทศไทยหากต้องการตรวจชิ้นเนื้อ ผู้ผ่าศพจะเป็นคนแรกที่เป็นผู้เลือกชิ้นเนื้อแล้วนำส่งไปที่พยาธิแพทย์ ซึ่งเขาจะระบุเพียงว่าเลือดพบการอักเสบ จากนั้นหมอจะนำมาบอกว่าแผลเกิดก่อนเสียชีวิต ขณะที่หมอผ่าศพต้องรู้ว่าแผลนี้ไม่โดนเส้นเลือดใหญ่ หมอจึงเป็นคนพูดว่าแผลนี้ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต ดังนั้น แพทย์ที่ตรวจชิ้นเนื้อไม่น่าจะให้ผลชันสูตรนี้ เพราะฉะนั้นแปลได้ว่าแผลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต ซึ่งเป็นคำถามที่เคยถามว่าแผลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนตกน้ำหรือเกิดตอนอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยาก

พญ. คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อว่า จริงๆคดีนี้ไม่ยากอยู่ที่ว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลาหรือไม่ และการที่จะบอกว่าแผลเกิดขึ้นก่อนหรือหลังตกน้ำ ไม่ได้อยู่ที่ศพ แต่อยู่ที่ที่เกิดเหตุ คือ นิติวิทยาศาสตร์ เรือ และบุคคลทั้ง 5 คน และการให้ชันสูตรรอบสองก็ถือว่าชัดเจนว่าถึงเวลาหรือยังที่ต้องปฏิรูป เพราะแผลจะตอบได้เลยว่าเกิดขึ้นก่อนตกน้ำหรือในน้ำ โดยกรณีหนึ่งสาธิตให้เห็นแล้วคือการจำลองด้วยเรือ ว่าเรือที่มีความเร็วและแตงโมหล่นท้ายเรือแบบที่คิดว่าไปนั่งฉี่ ตัวจะกระเด็นออกไปไม่โดนอะไรเลย ฉะนั้น ก็เป็นนิติวิทยาศาสตร์อีกสาขาหนึ่งที่นำมาประกอบในการสรุป

“ดิฉันจะเข้าไปร่วมผ่าพิสูจน์ด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถาบันนิติเวช แต่ข้อแนะนำ คือ การตรวจกระดูกในบริเวณที่วัตถุไปโดน สามารถนำท่อนกระดูกนั้นไปตรวจด้วยกล้องฯ ซึ่งกล้องดังกล่าวมีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับโลหะ หรือใบพลัด รวมทั้งขวดและแก้วไวน์ด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านมาหลายวันทำให้สภาพศพเกิดปัญหา แต่ประเด็นหลักที่ญาติต้องการ หรือสิ่งที่เขาต้องตอบ ต้องดูว่าอยากทราบอะไร แต่เชื่อว่าการผ่าชันสูตรครั้งที่หนึ่งตอบไปได้มากแล้ว แต่ถ้านำมาชันสูตรรอบที่สอง แล้วสมมุติถามว่าแตงโมมีแอลกอฮอล์หรือไม่ รับรองว่าตรวจไม่ได้ ดังนั้น การตรวจรอบ 2 จะช่วยได้ในช่วงบริเวณกระดูกรอยตัด ทั้งนี้ วันที่ 16 มี.ค. ที่จะถึง ดิฉันจะไปดูเรื่องนี้กับครอบครัวแตงโมว่าตอบได้หมดหรือไม่ หากพบว่าตอบอะไรไม่ได้ ก็จะไปถามในการชันสูตรครั้งที่สอง และคดีนี้ถือว่าแปลกแต่ต้น เพราะไม่ใช่วิถีที่จะทำให้เกิดความกระจ่าง คือ การไม่เก็บหลักฐานของคนทั้ง 5 คน และเรือทันที และเรือก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาซึ่งขัดกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องฟันหักก็คงเป็นเรื่องที่นิติเวชจะต้องตอบ”พญ. คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img