วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightไทย“ติดโควิดตาย”ติดท็อปเทนโลก “หมอธีระ”ย้ำ‘ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ไทย“ติดโควิดตาย”ติดท็อปเทนโลก “หมอธีระ”ย้ำ‘ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา’

หมอธีระ” ย้ำโอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าก็จริง แต่ป่วย-ตายโดยรวมมากกว่า การฉีดวัคซีนช่วยลดเสี่ยงป่วยรุนแรง-ตาย แต่ไม่ได้การันตี 100% เตือนไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า 3 เม.ย.65 ทะลุ 490 ล้าน

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 999,574 คน ตายเพิ่ม 2,513 คน รวมแล้วติดไปรวม 490,707,565 คน เสียชีวิตรวม 6,173,694 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และเวียดนาม

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.08 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 83.16

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 45.84 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.07

…สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก

…จำนวนการเสียชีวิตรายวันของไทยเราขณะนี้ติดท็อปเท็นของโลก สะท้อนถึงความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นจากการระบาด

ย้ำเตือนดังๆ ว่า Omicron นั้นรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าก็จริง การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ก็จริง แต่ไม่ได้การันตี 100% ดังนั้นหากไม่ป้องกันตัวอย่างดีพอ แล้วเกิดติดเชื้อขึ้นมา ก็จะแพร่ให้แก่คนในครอบครัว เพื่อนฝูงที่ทำงาน รวมถึงคนอื่นๆ ที่มาพบปะสังสรรค์กันจำนวนมาก และจะทำให้ป่วย และเสียชีวิตได้ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม

Omicron นั้นทำให้คนที่ติดเชื้อจำนวนมากกว่าเดลต้าอย่างมหาศาล ดังนั้นแม้ความรุนแรงจะลดลง แต่สุดท้ายแล้วจำนวนจริงที่จะเกิดป่วยและตายก็มีโอกาสที่จะรวมแล้วมากกว่าระลอกเดลต้าได้

เหนืออื่นใด การติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ แม้หายแล้วก็จะมีโอกาสเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า Long COVID ได้ 20-40% ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุก็ตาม และไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรือมีอาการรุนแรง ก็สามารถเกิดภาวะ Long COVID ได้

เพศหญิงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเพศชาย ผู้ใหญ่มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเด็ก คนที่ป่วยมีอาการหลายอย่างมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีอาการจำนวนน้อย คนที่ป่วยรุนแรงมีความเสี่ยงมากกว่าคนป่วยแบบอาการน้อยหรือไม่มีอาการ

คนที่ฉีดวัคซีนครบอย่างน้อยสองเข็มจะมีความเสี่ยงลดลงบ้าง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนที่ฉีด (mRNA vaccines มีประสิทธิภาพมากกว่า viral vector, ส่วนวัคซีนเชื้อตายไม่มีผลการศึกษาพิสูจน์)

ภาวะ Long COVID ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกเตรียมแผนรับมือ เพราะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ประสบปัญหานี้ บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงาน มีปัญหาด้านความคิด ความจำ สมาธิ เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ อาการปวดตามบริเวณต่างๆ ตลอดจนทำให้เกิดปัญหารุนแรงเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน โรคไต รวมถึงปัญหาในระบบทางเดินอาหาร และต่อมไร้ท่อ อาทิ โรคเบาหวาน ฯลฯ

Long COVID เป็นระลอกระยะยาวที่เกิดขึ้น บั่นทอนคุณภาพชีวิต และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง สมาชิกในครอบครัว และสังคม การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร จึงมีความสำคัญมาก

…อัพเดตงานวิจัย Long COVID ในเด็ก

ล่าสุดงานวิจัยจากสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สากล Archives of Disease in Childhood เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

ทำการศึกษาโดยกระบวนการ modified Delphi ระดมสมองเพื่อสรุปคำจำกัดความของ Long COVID ในเด็ก ต่อยอดจากคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก
สรุปคำจำกัดความสำหรับ Long COVID ในเด็กได้ดังนี้

“…Post-COVID-19 condition occurs in young people with a history of confirmed SARS-CoV-2 infection, with at least one persisting physical symptom for a minimum duration of 12 weeks after initial testing that cannot be explained by an alternative diagnosis. The symptoms have an impact on everyday functioning, may continue or develop after COVID infection, and may fluctuate or relapse over time. The positive COVID-19 test referred to in this definition can be a lateral flow antigen test, a PCR test or an antibody test…”

แปลว่า

“เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 อาการ คงอยู่อย่างน้อย 12 สัปดาห์หลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยไม่สามารถอธิบายหรือวินิจฉัยได้จากโรคอื่น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการติดเชื้อ หรือเกิดภายหลังก็ได้ และอาจเป็นอาการที่่มีลักษณะเป็นๆ หายๆ หรือเป็นกลับซ้ำก็ได้ ทั้งนี้การตรวจพบว่าติดเชื้อนั้นจะใช้ PCR หรือการตรวจแอนติบอดี้ หรือการตรวจแอนติเจนก็ได้”

คำจำกัดความข้างต้น หยิบยกขึ้นมาเล่าให้ไทยเราทราบเพราะปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากที่ตรวจพบว่าได้ผลบวกจาก ATK และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาไปจำนวนมาก ดังนั้นหลังจากหายป่วยแล้ว ไม่ว่าจะป่วยแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมาก ก็ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง และปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาภาวะ Long COVID ตั้งแต่เนิ่นๆ ได้

สงกรานต์…หากป้องกันไม่ดีเพียงพอ จะเกิดระบาดหนักมากขึ้นได้ สัจธรรมคือ ต้นทุนของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ยาที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน วัคซีนที่ใช้สูตรก็ไม่เหมือนกัน ประสิทธิภาพก็ย่อมต่างกัน รวมถึงความครอบคลุมของวัคซีนก็ไม่เท่ากัน

ดังนั้นหากเลือกที่จะวิ่งจ้ำตามเขา ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นย่อมแปรผันตรงข้ามกับความเข้มแข็งของระบบของเรา

สงกรานต์นี้…อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อตัวคุณและครอบครัวเถิดครับ

Happy Sunday morning ครับ

………………
อ้างอิง
Stephenson T et al. Long COVID (post-COVID-19 condition) in children: a modified Delphi process. Archives of Disease in Childhood. 1 April 2022.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img