สธ.เห็นชอบให้มีการประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัด เนื่องจากสถานการณ์แนวโน้มลดลงชัดเจน ส่วนการเปิดผับ-บาร์ รอ “ศบค.” ไฟเขียว
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณ์โรคโควิด19 ที่มีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน เห็นชอบให้มีการประกาศลดระดับเตือนภัยโควิด19 จากระดับ 4 เหลือระดับ 3 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ภาพรวมในประเทศแนวโน้มลดลงชัดเจน จึงสามารถลดระดับการเตือนภัยลงได้ รวมถึง ทั่วโลกก็มีการลดระดับลงแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ คำแนะนำประชาชนในการเตือนภัยที่ระดับ3 คือ 1.การไปในสถานที่เสี่ยง ทุกคน งดเข้าสถานบันเทิง เลี่ยงเข้าสถานที่ระบบปิด มีการระบายอากาศไม่ดี และสถานที่แออัด 2.การร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ซึ่งนับที่วัคซีน 3 เข็ม ให้เลี่ยงการรวมกลุ่มกับคนจำนวนมาก 3.การเดินทางข้ามพื้นที่/ข้ามจังหวัด กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์เลี่ยงใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท และ4.เดินทางเข้า-ออกประเทศ กลุ่มเสี่ยง 608 หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ งดเดินทางไปต่างประเทศ คนทั่วไปเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคโควิด19 ประเทศไทย หลังสงกรานต์แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาไม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยหนัก เริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ยังพบในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด19 หรือได้รับ 2 เข็มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 3 เดือน ยังจำเป็นเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ต่อเนื่องและกลุ่มเด็กวัยเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนนี้ด้วย
จังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง เปลี่ยนผ่านจากระยะ plateau เข้าสู่ระยะ Declining ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic โดยทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach) ทั้งนี้เพื่อการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน ในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม เร่งบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมตามมาตรการ”2U” Universal Prevention + Universal Vaccination โดยเน้นกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60 % และ “พอ” เตียงเหลือง-แดง, ยา เวชภัณทั วัคซีน, บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพียงพอต่อการให้บริการที่ได้มาตรฐาน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จากระยะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post-pandemic หรือการเป็นโรคประจำถิ่น ขณะนี้ภาพรวมประเทศอยู่ใน ระยะที่ 2 คงตัว(Plateau) โดยมี 23 จังหวัดอยู่ในระยะนี้ และอีก 54 จังหวัดอยู่ในระยะที่ 3 ดีขึ้นมีสถานการณ์ที่ลดลง มีแนวโน้มเข้าสู่หลังการระบาดใหญ่หรือการเป็นโรคประจำถิ่นเข้าไปทุกขณะ อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่จะพิจารณาการเป็นโรคประจำถิ่น คือ อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งมีหลายจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องการให้เป็นจังหวัดนำร่อง ก็จะต้องย้ำว่านอกจากการดูที่สถานการณ์แล้วจะต้องดูที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพราะถ้าหากอนาคตไวรัสมีการกลายพันธุ์และมีความรุนแรงขึ้นอีก การฉีดวัคซีนจะช่วยได้อย่างมาก
เมื่อถามว่าข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการสถานบันเทิง ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้พิจารณาเปิดพื้นที่นำร่องผับ บาร์ มีความเป็นไปได้อย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า จะต้องมีการหารือในที่ประชุมศบค.อีกครั้ง แม้สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้นแต่ยังเปลี่ยนเร็ว อย่างไรก็ตามในช่วงวันหยุดพบว่าประชาชนเริ่มเดินทางมากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ใกล้เคียงปกติมาก แต่ยังให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง
“เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติที่สุด แต่อยากที่เน้นย้ำคือ แต่ละจังหวัดที่จะเปิดขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปดูกลุ่ม 608 เพื่อให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เน้นย้ำว่าหากท่านผู้ว่าฯ อยากดำเนินการมากขึ้น ซึ่งคาดว่า ศบค.จะอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ก็ขอให้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ถึงเป้าหมายมากกว่า 60% เพื่อผู้ที่จะพิจารณาอนุมัติให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าวและว่า ขณะมี 5 จังหวัดที่เข็มกระตุ้นค่อนข้างดี เช่น นนทบุรี และจังหวัดปริมณฑล.