วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWSกรมวิทย์ฯจับตาโอมิครอน 3 พันธุ์ย่อย หวั่นทำให้มีคนป่วยเข้ารพ.เพิ่ม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

กรมวิทย์ฯจับตาโอมิครอน 3 พันธุ์ย่อย หวั่นทำให้มีคนป่วยเข้ารพ.เพิ่ม

กรมวิทย์ฯ สั่ง 15 ศูนย์ทั่วไทยจับตาโอมิครอน 3 พันธุ์ย่อย เน้นการเก็บตัวอย่างในคนที่มาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยอาการหนัก

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์โควิดในไทยอยู่ตลอด ขณะนี้พบว่าผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและการติดเชื้อภายในประเทศเองนั้นทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โอมิครอน และส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2  กว่า 97.6 เปอร์เซ็นต์ BA.1 คิดเป็น 2.4 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อยก็มีลูกหลานอีก แต่ไม่มีอิทธิฤทธิ์อะไร ส่วนสายพันธุ์ไฮบริดต่างๆ ที่ส่งตัวจากไทยไปยัง GISAID นั้น ก็ไม่ได้ถูกจัดลำดับชั้นว่าเป็นสายพันธุ์ไฮบริดตระกูลใดเลย ดังนั้นที่เคยสงสัยว่ามีสายพันธุ์ XJ จึงไม่มี

“วันนี้ทั่วโลกและประเทศไทยจับตา 3 สายพันธุ์นี้ ซึ่งมีข้อกังวลว่าจะทำให้เกิดคนไข้เข้า รพ.มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งประเทศไทยยังไม่พบ BA.4 แต่เจอ BA.5 จำนวน 1 ราย เป็นคนบราซิล ส่งตัวอย่างให้ตรวจตอนเม.ย. ขณะนี้หายดีกลับบ้านเรียบร้อย ส่วน BA.2.12.1 ยังไม่พบในไทย แต่พบตัวแม่ คือ BA.2.12 จำนวน 2 ราย คือ ชาวอินเดียและแคนาดา” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 15 แห่ง เฝ้าระวังตรวจทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยเน้นการเก็บตัวอย่างในคนที่มาจากต่างประเทศ ผู้ป่วยอาการหนัก หากพบสัดส่วนผู้ป่วยอาการหนักในเชื้อกลายพันธุ์ที่เราเฝ้าระวังมากขึ้น ก็แสดงว่ามีสัญญาณบางอย่าง ซึ่งเราสามารถตรวจเฉพาะจุดด้วยวิธี SNP โดยมีน้ำยาที่ให้แต่ละศูนย์ตรวจได้ปริมาณมาก ทั้งนี้ ตำแหน่งมาร์กเกอร์ของแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างกัน หากพบ L452R ร่วมกับ del69/70 ถือว่าเป็น BA.4 และ BA.5 และ หากเป็น L452Q จะเป็น BA.2.12.1

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสายพันธุ์ใหม่แต่กว่าจะรู้ว่าแพร่เร็วแค่ไหน รุนแรงหรือหลบวัคซีนจะใช้เวลาหลังจากนั้นพอสมควร เราจะเพาะเชื้อเมื่อเริ่มมีตัวอย่าง ซึ่งตอนนี้มีเชื้อ BA.5 แล้ว ยังไม่มี BA.4 ก็จะเอามาเพาะเชื้อให้ได้ เมื่อได้เชื้อมากพอ ก็เอามาตรวจภูมิที่มีต่อเชื้อได้

“BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม L452R เหมือนกับเดลตา แต่จะสรุปว่ามีความรุนแรงเท่าเดลตาไม่ได้ ยังต้องดูข้อมูลต่อไป อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากแอฟริกาใต้ว่า เมื่อติดเชื้อด้วย BA.1 ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่สามารถกันติดเชื้อ BA.2 ได้ จึงไม่สามารถกัน BA.4 และ BA.5 ได้ด้วย แต่หากติดเชื้อ BA.1 เคยรับวัคซีนมาก่อน แม้ภูมิคุ้มกันลดลงก็ไม่มาก จะช่วยกัน BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่า เรียกว่าฉีดวัคซีนด้วยดีกว่าติดเชื้อโดยธรรมชาติ วัคซีนยังช่วยป้องกันไม่ว่าสายพันธุ์ไหน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img