“ศบค.” ยกระดับระบบควบคุมป้องกันโรค แยก 3 กรุ๊ป-แบ่งตามสี “แดง” มี 1 จว.คือพื้นที่ระบาด “ส้ม” พบผู้ติดเชื้อ มี 8 จว. และ “เขียว” ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ มี 14 จว. พร้อมแจงสิทธิ์เข้าเกณฑ์ใดถึงจะตรวจโควิด-19 ฟรี
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.63 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการเฝ้าระวังในวงนอกจากจุดระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร คือในกลุ่มคนที่เป็นลูกค้าประจำที่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่ง จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการมีคนเดินทางไปตลาดกลางกุ้งใน 23 จังหวัด จะต้องยกระดับระบบควบคุม ป้องกันโรค เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อในกลุ่มคนที่เดินทางมายังตลาดกลางกุ้ง แยกเป็น สีแดง 1 จังหวัดเป็นพื้นที่การระบาด ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, สีส้ม จังหวัดที่มีการพบผู้ติดเชื้อแล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สระบุรี กรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม อุตรดิตถ์ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา และ สีเขียว 14 จังหวัด คือยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี สงขลา ปราจีนบุรี ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมในการตรวจ
“ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนของประเทศมาเลเซีย มีตัวเลขรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นราว 2,000 รายต่อวัน เพราะฉะนั้นจังหวัดในชายแดนภาคใต้จะต้องร่วมกันเป็นหูเป็นตา ช่วยเฝ้าระวังคนที่เข้ามาโดยผ่านช่องทางที่ราชการกำหนด ส่วนประเทศเมียนมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ดูเหมือนมีแนวโน้มลดลงเหลือเลข 3 หลัก จากก่อนหน้านี้ 4 หลักต่อวัน”นพ.ทวีศิลป์กล่าวและว่า ส่วนที่รัฐประกาศให้กลุ่มที่เคยไปในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยเฉพาะตลาดกลางกุ้งตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ให้สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติโดยเฉพาะอาการโรคระบบทางเดินหายใจไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดฟรีนั้น ทำให้ประชาชนตกใจ และแห่เข้ารับการตรวจหาเชื้อในรพ.จำนวนมาก ทำให้ภาระงานล้น และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกเรียกเก็บเงิน ซึ่งต้องขอชี้แจงว่าอย่าเพิ่งตกใจ ขอให้สังเกตอาการก่อน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คนที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดฟรีนั้น ยังมีข้อกำหนดอยู่คือ ต้องมีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ คือ 1.กลุ่มที่เดินทางมาจากเขตติดโรคหรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง, ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค, พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง, สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยยืนยัน, เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน 2.กรณีมีอาการที่เข้าข่ายโควิด-19 อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจ เหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส 3.กลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัยโควิด 19, เป็นบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น, เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้
“กลุ่มเหล่านี้สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิข้าราชการ โดยระหว่างเดินทางเข้ารับการตรวจนั้นขอให้สวมหน้ากากอนามัยล้างมือบ่อยๆเว้นระยะห่างเดินทางด้วยรถส่วนตัว”นพ.ทวีศิลป์กล่าว