นายกฯ ย้ำทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ร่วมมือกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า เพิ่มโอกาสเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำทุกหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทั้งเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน เพื่อให้เป็นไปตามที่ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) ในการประชุมสุดยอดผู้นำเวทีโลกใน COP26 โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายในระดับโลก
ทั้งนี้ การตั้งเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ที่มีความสำคัญมากกว่าข้อตกลงทางการค้า (FTA) ในอนาคต โดยปัจจุบันสหภาพยุโรปประกาศเก็บภาษีคาร์บอนบางรายการ ขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าใหญ่ของไทยก็จะมีการเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงในการผลิตเช่นกัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม คิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางการค้า การส่งออก และภาคธุรกิจไทย โดยขณะนี้ภาคพลังงาน การผลิตไฟฟ้า รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ยังขยายแนวคิดการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานทดแทนในทุกภาคส่วน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งเรื่องของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งรัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573 ตลอดจนออกมาตรการสนับสนุน สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการ พร้อมมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์พืชที่เหมาะกับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสูงต่อพื้นที่หลายชนิด อีกทั้งยังได้พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยกำหนดแนวทางและกลไก การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคเอกชน ชุมชน และท้องถิ่นก็จะมีรายได้จากการปลูกป่า/ต้นไม้ ที่เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วย