“ปานเทพ” ยก 10 เหตุผลเดินหน้าถอยไม่ได้ ยัน “กัญชา” ติดยากมีประโยชน์มากกว่า “เหล้า-บุหรี่” หลายเท่า
วันที่ 1 ก.ค.65 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก และกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟสบุ๊ค ส่วนตัว ระบุข้อความ เรื่อง ”10 ข้อ กัญชา กัญชง ถอยหลังไม่ได้” โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่มีกลุ่มภาคประชาชนบางกลุ่ม ตลอดจนแพทย์แผนปัจจุบันและเภสัชกรบางกลุ่ม ได้แสดงความห่วงใยในมิติต่างๆต่อนโยบายกัญชา บางกรณีมีเป้าหมายเดียวกัน บางกรณีเป็นความเห็นต่าง และหลายกรณีเป็นความเข้าใจผิด จึงขอนำเสนอในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
ประการแรก การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดนั้น เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในการประชุมร่วมของที่ประชุมสมาชิกรัฐสาภ ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา โดยได้ลงมติเห็นชอบกับประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งไม่ปรากฏชื่อ “กัญชา” อยู่ในประเภทยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 อีกต่อไป เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ด้วยคะแนนอย่างท่วมท้นถึง 467 เสียง โดย “ไม่มีผู้คัดค้านเลยแม้แต่คนเดียว”
ประการที่สอง การที่คณะกรรมการควบบคุมยาเสพติดต่อมาได้พิจารณาให้กัญชาออกจากยาเสพติดเช่นกัน คงเหลือไว้แต่สารสกัดที่มี THC (สารที่ทำให้เมา)เกินกว่า ร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติดนั้น ก็เพราะนอกจากจะเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกที่มีหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 แล้ว ความเป็นจริงจากงานวิจัยจำนวนมากยังพบว่า “กัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่อย่างมาก”
แต่เหล้าและบุหรี่ซึ่งมีโทษต่อสุขภาพอย่างมหาศาลกลับไม่ใช่ยาเสพติด และยังสามารถหาซื้อได้โดยง่าย การกำหนดให้การควบคุมกัญชาอย่างเข้มข้นในระดับยาเสพติดจึงขัดแย้งกับความจริงอย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะนี้กลับมีการโจมตีกัญชายิ่งกว่าเหล้าและบุหรี่เสียอีก
นอกจากนั้นกัญชามีประโยชน์ไม่เพียงทางการแพทย์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกัญชายังช่วยประชาชนในการดูแลสุขภาพตัวเองในฐานะเป็นสมุนไพรในครอบครัวที่จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ได้แก่ช่วยการนอนหลับ เจริญอาหาร ลดการอักเสบ ลดการเกร็ง ลดอาการปวด ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดค่าใช้จ่ายได้ และจะช่วยลดภาระการผูกขาดผลประโยชน์จากบริษัทยาข้ามชาติด้วย
ประการที่สาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนได้เฝ้ารอการใช้กัญชาทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน แต่กลับปรากฏว่ายังคงมี “อคติทางการแพทย์” ที่ปฏิเสธการจ่ายยากัญชาหรือน้ำมันกัญชาให้กับคนไข้ และยังมีแพทย์และเภสัชกรบางกลุ่มที่ต่อต้านกัญชาในขณะนี้มี “ผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทยา” และบริษัทยาข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด
ดังปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ “น้ำมันกัญชา” ของภาครัฐจ่ายให้กับประชาชนไปครึ่งหนึ่งแต่หมดอายุไปกว่าครึ่ง อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำมันกัญชาได้ยาก ไม่ครอบคลุมทั้งตำรับและข้อบ่งใช้ตามที่ประชาชนต้องการ ทำให้ประชาชนต้องใช้กัญชาใต้ดินที่มีอันตรายจากสารพิษและราคาแพง บ้างต้องปลูกกัญชาเพื่อใช้เอง บ้างก็สกัดเองเบื้องต้นเพื่อใช้ในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ดังปรากฏตามผลสำรวจของนิด้าโพลว่ามีประชาชนมากถึงร้อยละ 32.98 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชามาแล้ว ดังนั้นจำนวนผลข้างเคียงที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้จึงถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาทั้งประเทศ
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ควรปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติในการถูกจับกุมนำไปติดคุกในการใช้กัญชาในครัวเรือน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่การเข้าถึงของประชาชนในทุกครัวเรือน เพื่อป้องกันการผูกขาดของบริษัทยาหรือกัญชาเอาไว้กับกลุ่มทุนบริษัทยา กลุ่มทุนทางการแพทย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ประการที่สี่ การที่มีสุญญากาศทางกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่าประชาชนเข้าใช้งานระบบในแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ”ขององค์การอาหารและยาในเรื่องการจดแจ้งการปลูกกัญชาถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2565 มากกว่า 42 ล้านครั้ง และมีผู้ที่ลงทะเบียนในการจดแจ้งเพื่อการปลูกมากถึง 944,717 คน โดยในคนกลุ่มนี้มีการใช้กัญชาอยู่แล้วหรือปลูกอยู่แล้วจำนวนมาก และหากไม่มีพื้นที่สุญญากาศทางกฎหมายเลย กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่มีทางปรากฏตัวให้เห็นสภาพข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏทั้งหมดเวลานี้
สอดคล้องกับผลสำรวจของนิด้าโพลว่าประชาชนมากถึงร้อยละ 58.55 เห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยในการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับจากกัญชาเป็นอย่างดีแล้ว และไม่สามารถปิดกั้นหรือผูกขาดอยู่กับภาครัฐหรือวงการธุรกิจยาแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป
ประการที่ห้า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชน และมีจุดยืนอย่างชัดเจนมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นในเรื่องนโยบายกัญชา คือ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่วนการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข หากแต่มีข้อเสนอจากภาคประชาชนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวบางกลุ่ม ที่มีความประสงค์ที่จะต้องการให้เปิดช่องการใช้กัญชาเพื่อ “นันทนาการอย่างมีการควบคุม” ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..ซึ่งจะต้องรับฟังเสียงสะท้อนและความต้องการของสังคมอย่างรอบด้านด้วย
ประการที่หก กระทรวงสาธารณสุขได้จำกัดการเข้าถึงกัญชาสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีมาตั้งแต่แรกแล้ว และยังมีข้อห้ามในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร
โดยผู้ประกอบการร้านอาหาร จะต้องมีการติดป้ายทั้งหน้าร้านและเมนูอาหาร โดยอาศัยใต้ประกาศของกรมอนามัยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 อีกทั้งยังมีการควบคุมทุกผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการขออนุญาตขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อ.ย.) ให้มีความปลอดภัยสูงสำหรับผู้บริโภค
นอกจากนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 ออกความตามพระราชบัญญัติอาหาร 2522 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ยังไม่อนุญาตให้มีการใช้ช่อดอกกัญชาในการปรุงอาหาร
นอกจากนี้ยังได้อาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กำหนดให้ กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ห้ามจำหน่ายให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร และห้ามสูบในที่สาธารณะ
จึงเห็นได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขได้มีกฎกติกาอยู่แล้ว ดังนั้นหากยังมีผู้กระทำความผิดก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป ไม่เกี่ยวกับว่าในช่วงสุญญากาศนี้ไม่มีกฎกติกาแต่ประการใด หรือต้องการออกพระราชกำหนดแต่ประการใด
ประการที่เจ็ด แม้กระทรวงสาธารณสุขจะไม่เห็นด้วยกับการสูบกัญชา เนื่องด้วยมีสารพิษที่ได้จากการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ แต่เนื่องจากกัญชาติดได้ยากกว่าบุหรี่ และมีโทษต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ จึงย่อมไม่มีเหตุผลที่จะริดรอนสิทธิของประชาชนให้เข้มข้นกว่าบุหรี่ได้
นอกจากนั้นยังมีผู้ที่สูบกัญชาจำนวนมาก เป็นไปเพื่อเพิ่มคุณภาพการนอน ผ่อนคลายความเครียด หรือเพื่อเร่งการหยุดปวดหรือคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ โดยอาจไม่ใช่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านนันทนาการเสมอไป อีกทั้งปัจจุบันการสูบกัญชาในที่สาธารณะก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว จึงเห็นว่าการสูบครัวเรือนหรือสูบในที่ปิด ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความรำคาญหรือความวุ่นวายในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ย่อมเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของปัจเจกบุคคลที่ไม่ต่างจากบุหรี่
ส่วนการปลูกกัญชาในบ้านและเป็นห่วงเยาวชนในบ้านนั้น ก็ไม่ต่างจากมีสิ่งอื่นในบ้านที่มีทั้งประโยชน์และโทษอยู่คู่กันเสมอ เช่น มีด ไฟแช็ก ไม่ขีดไฟ แอลกอฮอล์ อินเตอร์เน็ต ยา สมุนไพรทุกชนิด ฯลฯ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลว่าจะต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกจากบ้านเพราะมีข้อห่วงใยอยู่ด้วยซึ่งไม่ต่างจากกัญชา เพราะแม้แต่บุหรี่และเหล้าซึ่งติดง่ายกว่าและมีแต่โทษต่อสุขภาพเลวร้ายยิ่งกว่ากัญชา ก็ยังสามารถนำเข้าในบ้านได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายใดๆห้าม ดังนั้นสาระสำคัญในเรื่องนี้จึงไม่ใช่ที่ต้นกัญชา หากแต่เป็นความรู้และกติกาในครอบครัวต่างหากที่จะต้องเป็นผู้ดูแลสมาชิกในครอบครัว
สังคมไทยแทนที่จะเห็นแต่ข้อเสียในช่วงสุญญากาศทางกฎหมายของกัญชา ก็ควรจะใช้ประโยชน์เพื่อถอดบทเรียนจากการใช้กัญชาในช่วงเวลานี้ให้คุ้มค่า ดังเช่น การค้าขายและการใช้กัญชาบนถนนข้าวสาร ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจจำนวนมากและได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ สร้างความหวังในการทำมาหากินให้ผู้ประกอบการย่านนั้นจำนวนมากกว่ามีข้อดีข้อเสีย จุดอ่อนจุดแข็ง ประโยชน์และโทษมากน้อยเพียงใด หรือแม้แต่เปิดให้ผู้ประกอบการถนนข้าวสารขออนุญาตให้เป็นพื้นที่สูบกัญชาในที่สาธารณะเป็นแซนบอกซ์ในเวลาอันจำกัด ทั้งนี้เพื่อถอดบทเรียนมากำหนดทิศทางในการบริหารจัดการอย่างไรต่อไปให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุดหรือไม่?
และถ้าเรายอมรับความมีอยู่จริงนี้ การให้ความรู้กับประชาชนก็ควรจะเกิดขึ้นรอบด้านไม่ใช่หรือ รวมทั้งข้อควรระวังหรือการลดผลเสียจากการสูบกัญชาเพื่อลดภาระต่อสังคมและสถานพยาบาลต่อไปในภายภาคหน้าจะดีกว่าหรือไม่?
ประการที่แปด แม้จะมีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ของพรรคภูมิใจไทย จะเข้ามาพิจารณาพร้อมกับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง พ.ศ… แต่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯเห็นว่าควรใช้ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….. ของพรรคภูมิใจไทย เป็นร่างหลัก แต่ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะที่มีความหลากหลายและรอบด้านในที่ประชุมรวมทั้งรับฟังความเห็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง พ.ศ… เองด้วย รวมทั้งยังมีการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่แสดงความเห็นและความห่วงใยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดกฎกติการเกี่ยวกับกัญชาให้มีความถูกต้องเหมาะสมกับบริบททางสังคมไทยต่อไป
ประการที่เก้า แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องมีการรายงานผลกระทบต่อสังคมในช่วงสุญญากาศอย่างรอบด้าน แต่ความจริงสังคมยังต้องมีข้อมูลอย่างถูกต้องโดยปราศจากอคติในการนำเสนอข้อมูลด้วย เช่น กัญชาใต้ดินมีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนปลดล็อกกัญชา เด็กเยาวชนที่นำมาใช้กัญชานั้นมีกฎหมายห้ามอยู่แล้วและจำเป็นต้องลงโทษผู้กระทำความผิดในการจำหน่ายกัญชาให้เด็กและเยาวชน กรณีศึกษาผลกระทบของผู้ที่เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการต่างๆแล้วอ้างว่าใช้กัญชาเพราะเห็นว่ากัญชาไม่ได้เป็นยาเสพติดแล้ว ทั้งๆความจริงอาจมีการใช้ยาเสพติดอย่างอื่น หรือผสมยาเสพติดอย่างอื่น หรือแแม้แต่ไม่ได้ใช้กัญชาเลยโดยไม่มีการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ข้อเท็จจริง ตลอดจนกรณีศึกษาของผู้ที่เป็นจิตเวชอยู่แล้วซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวกับกัญชาเลย
อคติทางการแพทย์ที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นไม่สามารถทำให้สังคมได้ความจริงได้ เพราะการหาความจริงนั้นจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านว่ามีผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่ทำให้กัญชามาอยู่บนดินนั้นได้ประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้กัญชาอย่างไร และมีจำนวนเท่าไหร่ สังคมจึงจะได้รับความจริงอย่างถูกต้องและเป็นธรรมในการตัดสินใจต่อไป
โดยเฉพาะในเวลานี้การสร้างกระแสความหวาดกลัวแบบเหวี่ยงแหนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อ “กัญชง” รวมทั้งน้ำมันซีบีดี ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยปราศจากสาร THC และจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้กับประเทศด้วย
ประการที่สิบ การที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….มีความหลากหลายนั้น ย่อมเป็นประโยชน์กว่าการเรียกร้องจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือจากฝ่ายรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว และมีเรื่องที่ต้องพิจารณาและชั่งน้ำหนักหลายด้าน เช่น ความเหลื่อมล้ำในธุรกิจกัญชากัญชงระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ การถ่วงดุลระหว่างภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกับภาคสังคม การถ่วงดุลระหว่างมาตรฐานการควบคุมกับการผูกขาดของกลุ่มทุน ฯลฯ ตัวอย่างเหล่านี้คณะกรรมาธิการฯ ขอน้อมรับความเห็นที่แตกต่างในสังคมเหล่านี้มาประมวลรอบด้านและตัดสินใจให้ได้โดยเร็วต่อไป