“กรมวิทย์” เผยผลตรวจวัคซีนป้องกันฝีดาษอภ. 13 ล็อต พบปลอดภัย ประสิทธิภาพดี แต่เป็นวัคซีนรุ่นแรก แต่อภ.เก็บต่อ รอใช้ยามจำเป็น คร. สั่งจองวัคซีนจำเพาะฝีดาษวานรแล้ว ฉีดเฉพาะกลุ่ม ย้ำสถานการณ์ไม่ถึงขั้นต้องให้วัคซีนวงกว้าง
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 65 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษคน รุ่นแรก ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เก็บไว้ประมาณ 40 ปี ว่า วัคซีนที่องค์การเภสัชฯ เก็บไว้ เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ รุ่นแรก สำหรับป้องกันโรคฝีดาษคน โดยมีทั้งหมด 13 ล็อต ผลิตกันคนละล็อต ตั้งแต่ปี 2522-2523
ดังนั้นกรมวิทย์ฯ จึงต้องสุ่มทุกล็อตมาตรวจ เพื่อดูคุณภาพทางกายภาพ มีการตรวจความเป็นกรด ด่าง มีการปนเปื้อนหรือไม่ เช่น เอ็นโดท็อกซิล ที่เป็นสารพิษที่หลงเหลืออยู่ในตัวของมัน หรือมีเชื้อรา แบคทีเรียหรือไม่ ต้องตรวจให้มั่นใจว่าไม่มี หรือไม่เกินค่ากำหนด ต่อมาก็ต้องพิสูจน์เอกลักษณ์ ตรวจความแรงหรือประสิทธิภาพต่อโรค ว่ายังสามารถใช้ได้หรือไม่ เพราะถ้าประสิทธิภาพน้อยก็เหมือนการฉีดน้ำเปล่า
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้วัคซีนมีการเก็บไว้ในหลอดแก้วที่ต้องตอกเพื่อสารที่เป็นผงขาวออกเหลืองข้างใน ออกมาละลาย ซึ่ง 1 หลอด มี 50 โดส ตอนนี้มี 10,000 หลอด เท่ากับ 500,000 โดส ผลตรวจทั้ง 13 ล็อต พบว่า ค่าความเป็นกรดด่างอยู่ในเกณฑ์ อยู่ในช่วงค่า pH 7.38- 7.52 (มาตรฐานทั่วไป pH 6.0-8.0) ส่วนที่เป็นเอนโดท็อกซิล อยู่ระหว่าง 4.20- 31.1 EU/ml (มาตรฐานทั่วไป ไม่เกิน 200 EU/ml) ดังนั้นมีความปลอดภัยสูง การปราศจากการปนเปื้อนนั้นก็ไม่พบว่ามีเชื้อรา หรือแบคทีเรีย แสดงว่ามีความปลอดภัย และผลตรวจสอบความเป็นเอกลักษณ์ พบว่า เป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสฝีดาษ Orthopoxvirus
ส่วนผลการตรวจความแรง หรือประสิทธิภาพของวัคซีนต่อฝีดาษวานร ทุกล็อต อยู่ระหว่าง 6.42- 6.86 logTCID50/ml (มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนด ต้องมากกว่าหรือเท่ากับ 5.4 log TCID50/ml) ดังนั้นจึงมั่นใจว่าความแรงของวัคซีนยังโอเค เกินค่ามาตรฐานเกือบ 10 เท่า ถือว่าใช้ได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายประเทศมีการผลิตวัคซีนรุ่น 3 รุ่น 4 แล้ว เช่น ที่แคนนาดา เป็นเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์เช่นกัน แต่ฉีดแล้วไม่เพิ่มจำนวน จึงมีความปลอดภัยสูง ฉีดในคนท้องได้ คนภูมิคุ้มกันน้อยก็ฉีดได้ และได้รับการขึ้นทะเบียนเอามาป้องกันฝีดาษวานรแล้ว ขณะที่วิธีการฉีด ก็ฉีดใต้ผิวหนัง 2ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ หากไทยจำเป็นต้องฉีดก็คือตัวนี้ ส่วนญี่ปุ่นก็มีการทำรุ่น 3 ใช้แบบสกิดให้เกิดแผลเหมือนวิธีดั้งเดิม แต่ยังไม่ได้ขออนุญาตทำอะไร ยังต้องรอดูว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
ดังนั้นวัคซีน 5 แสนโดสในมือเรา ที่เก็บมา 40 ปี หากจำเป็น เพราะวัคซีนหาไม่ได้ หรือหามาได้น้อยเกินไปก็จะมีการพิจารณานำมาใช้ แต่เนื่องจากวัคซีนรุ่นเก่าก็ต้องมาสกิดให้เกิดแผล ตกสะเก็ด จึงให้ไว้เป็นทางเลือก แต่ต้องไปหาวัคซีนรุ่น 3 เข้ามา อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรคระบุความสามารถแพร่โรคไม่มาก จะแพร่เมื่อมีอาการ และคลุกคลีใกล้ชิด แต่คนเมื่อมีอาการแล้วก็ไม่ค่อยใกล้ชิดกัน ไม่เมือนโควิด ดังนั้นหากจะฉีดก็ฉีดในคนที่มีความเฉพาะ เช่น บางประเทศฉีดในคนที่มีโอกาสสัมผัส เช่น เลี้ยงสัตว์ป่า คนมีพฤติกรรมเสี่ยง มีโอกาสไปนัวเนียทำให้เสี่ยงรับเชื้อได้ ไม่ได้ฉีดคนทั่วๆ ไป ดังนั้น ความต้องการวัคซีนอาจจะไม่ได้เยอะมาก การจะเอามาใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ก็ต้องดูว่าเรามีวัคซีนรุ่นหลังหรือไม่ ดีกว่าหรือไม่ หากมีดีกว่าอยู่ในมือ ของเดิมก็ให้องค์การเภสัชฯ เก็บไว้ หากเกิดความเสี่ยงอะไรค่อยพิจารณานำมาใช้ อย่างไรก็ตามทางกรมพยายามเพาะเชื้อดาษวานรเพื่อทำวัคซีนในประเทศด้วย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้รักษาตามอาการ เหมือนจะน่ากลัวแต่ความรุนแรงของโรคไม่มากนัก ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ส่วนเรื่องวัคซีนขณะนี้ที่ผลิตมาและเตรียมจะใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการสั่งจองวัคซีนเบื้องต้นไปแล้ว และยังมีวัคซีนเดิมสำหรับโรคฝีดาษที่องค์การเภสัชฯ เก็บไว้อยู่ในขั้นตอนที่อาจจะนำมาใช้ได้ต้องดูตามข้อบ่งชี้ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงและการประเมินสถานการณ์เพื่อการนำมาใช้ต่อไป ทั้งนี้ การให้วัคซีนดูตามความจำเป็น ซึ่งดูจากสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนในวงกว้าง แต่อาจต้องมีความจำเป็นในการฉีดให้กับกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขที่ให้การดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด เนื่องจากวัคซีนตัวนี้มีผลข้างเคียงอยู่บ้างอาจต้องชั่งผลดีผลเสียระหว่างการฉีดและไม่ฉีด