รองนายฯกำชับเร่งรัดแผนบรรเทาอุทกภัยเมืองตรังให้เสร็จภายในก.ย.นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง
วันที่ 8 ส.ค.65 ที่จังหวัดตรัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นายบุรีรัตน์ วงศ์บุรี เลขานุการกรม นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 16 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง เป็นการขุดคลองผันน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำของแม่น้ำตรัง ที่ไหลผ่านตัวเมืองตรัง ให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งก่อสร้างถนนบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำจำนวน 2 แห่ง คือประตูระบายน้ำบริเวณปากคลองผันน้ำ เพื่อใช้ควบคุมและบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และประตูระบายน้ำบริเวณปลายคลองผันน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งก่อสร้างอาคารประกอบตามแนวคลองผันน้ำ เช่น สะพานรถยนต์ จำนวน 6 แห่ง เพื่อเชื่อมต่อการคมนาคมระหว่าง 2 ฝั่งคลอง และอาคารรับน้ำตลอดแนวคลองผันน้ำ เพื่อรับน้ำจากในพื้นที่ข้างเคียงลงสู่คลองผันน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลหนองตรุด ตำบลนาโต๊ะหมิง และตำบลบางรัก อำเภอเมืองตรัง พื้นที่รวมประมาณ 10,525 ไร่ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) และเป็นแหล่งน้ำดิบช่วยสนับสนุนการผลิตน้ำประปาได้ปีละประมาณ 1.74 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 90 คาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างดำเนินการก่อสร้างที่ผ่านมา แม้ว่าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวในการช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยมาตั้งแต่ปี 2563 โดยกรมชลประทานได้ใช้คลองผันน้ำของโครงการฯ ช่วยในการระบายน้ำ แบ่งน้ำจากแม่น้ำตรังระบายผ่านคลองผันน้ำ ช่วยลดปริมาณน้ำจะไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองตรัง ทำให้ตัวเมืองตรังรอดพ้นจากอุทกภัยในปี 2563 และ 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีแผนงานก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำตรังบริเวณบ้านหนองตรุด เพื่อใช้บริหารจัดการน้ำร่วมกับคลองผันน้ำ รวมทั้งขุดช่องลัดแม่น้ำตรังในพื้นที่ด้านท้ายน้ำจำนวน 3 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำตรังให้ลงสู่ทะเลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมีแผนงานเตรียมความพร้อมด้านวิศวกรรมและด้านการจัดหาที่ดินในปี 2566 ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 4 ปี (พ.ศ.2567-2570) เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะสามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยของแม่น้ำตรังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อีกหนึ่งโครงการสำคัญ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน ได้วางแผนดำเนินการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำ ด้วยการก่อสร้างฝายพับได้ บริเวณทางระบายน้ำล้นปกติ พร้อมอาคารควบคุม ติดตาม และอุปกรณ์ประกอบเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2566 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุอ่างได้ 1.3 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม 18.5 ล้าน ลบ.ม. เป็น 19.8 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค บริโภค รองรับการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตต่อไป
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งรัดการก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรังให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง และเร่งรัดให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำตรัง รวมถึงช่องลัดและคันกั้นน้ำในปี 2567 โดยให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณายกระดับเป็นโครงการที่อยู่ในวาระสำคัญ ที่จะต้องเร่งดำเนินการต่อไป