วันเสาร์, มิถุนายน 29, 2024
หน้าแรกNEWS''กพช.''ผลักดัน''Direct PPA'' เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

”กพช.”ผลักดัน”Direct PPA” เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

กพช. ผลักดัน Direct PPA เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก พร้อมเห็นชอบให้กรรมสิทธิ์ในใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน เป็นกรรมสิทธิ์ของการไฟฟ้าในฐานะผู้รับซื้อ หรือภาครัฐ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.67 นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ โดยเห็นชอบกรอบการดำเนินการในปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีลักษณะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ

โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน (พน.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งและผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมอบหมายให้ กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการ TPA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยให้ครอบคลุมค่าบริการต่าง ๆ เช่น 1) ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) 2) ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Connection Charge) 3) ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า (System Security Charge หรือ Ancillary Services Charge) 4) ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า (Imbalance Charge) 5) ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย (Policy Expenses) และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป


นายประเสริฐ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบข้อเสนอการรับซื้อไฟฟ้ากรณีการต่ออายุสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น Feed-in Tariff (FiT) ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ในอัตราคงที่ 2.28 บาทต่อหน่วย ตามระยะเวลาที่โครงการปรับลดจากการเปลี่ยนจากรูปแบบ Adder เป็น FiT เป็นระยะเวลา 27 – 56 เดือน

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ภาครัฐพิจารณาให้ต่ออายุสัญญาจะสามารถผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเพิ่มได้โดยไม่ต้องมีการลงทุนเครื่องจักรใหม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้มีการผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) มาแล้วแต่ยังไม่ครบอายุโครงการ (20 ปี) ตามอายุมาตรฐานของเครื่องจักร/โรงไฟฟ้า จึงอาจทำให้เครื่องจักรและโรงไฟฟ้ายังอยู่ในสภาพที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากมีการต่ออายุสัญญาออกไป โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเงินและการดำเนินธุรกิจเนื่องจากได้รับการคืนทุนเงินลงทุนโครงการและได้รับผลตอบแทนจากการขายไฟฟ้าตามมาตรการรับซื้อไฟฟ้า FiT ตามที่กำหนดแล้ว ทำให้ภาครัฐสามารถที่จะพิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ และไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ


ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้กรรมสิทธิ์ในใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) หรือคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เปลี่ยนรูปแบบจาก Adder เป็น FiT ที่ได้รับการต่ออายุสัญญา เป็นกรรมสิทธิ์ของการไฟฟ้าในฐานะผู้รับซื้อ หรือภาครัฐ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img