“วิษณุ” เบรกวิจารณ์ปมวาระ 8 ปี “ประยุทธ์” รอฟังศาลรธน.ชี้ขาด ยกเคสรักษาการนายกฯยุคพฤษภาทมิฬ’ โยนนายกฯคนใหม่มายุบสภา
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีข้อสงสัยว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษขึ้นมาพิจารณาเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจขัดกับหลักการของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่ขัด และเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะเป็นตำแหน่งของทางราชการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง แต่เมื่อมีปัญหา จึงถือเป็นปัญหาของประเทศ ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษพิจารณาเรื่องดังกล่าวมานานแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อถามว่าในเอกสารคำชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ระบุถึงเรื่องการเป็นนายกฯขาดตอน จึงไม่ถือว่าดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ซึ่งในโลกโซเชียลวิจารณ์และตั้งคำถามอย่างมาก นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ทราบ แต่ขอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่าเพิ่งรีบไปวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ขออย่านำเรื่องคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี มาถาม เพราะนั่นเป็นคำให้การของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีทั้งจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ถูกบ้าง ผิดบ้าง เป็นการตอบไปตามประเด็นที่ผู้ร้องตั้งประเด็นไว้ ส่วนสุดท้ายจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร จะถูกหรือผิด คำชี้แจงฟังขึ้นหรือไม่นั้น อยู่ที่ศาลฯ ซึ่งศาลฯอาจทิ้งประเด็นต่างๆก็ได้ อย่างไรก็ตามมีบางประเด็นที่เขาให้การไปซึ่งตนไม่เห็นด้วย และคิดว่าไม่จำเป็นต้องตอบ ไม่มีอะไรที่ต้องไปตอบหมด แต่ทีมกฎหมายของพล.อ.ประยุทธ์เห็นว่าควรต้องตอบให้หมดทุกข้อ ยกตัวอย่างที่มีบางเรื่องที่เขาบอกว่าเคยมีเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัย แต่ตนเห็นว่าไม่ตรงกับเรื่องนี้ จึงไม่จำเป็นต้องเอามาตอบ แต่ไม่เป็นอะไร อย่างมากก็เสมอตัว ไม่ทำให้ขาดทุน ทั้งนี้ ตนคิดว่าขอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะนำมาวิพากษ์วิจารณ์
ต่อข้อถามว่าการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมในวันที่ 14 ก.ย.นี้ คิดว่าจะมีคำวินิจฉัยหรือไม่ และรัฐบาลได้เตรียมแนวทางรองรับคำวินิจฉัยที่จะออกมาหรือไม่ อย่างไร นายวิษณุกล่าวว่ายังไม่รู้ว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาในวันนั้นหรือไม่ และตนยืนยันได้เลยว่าไม่มีแนวทางรองรับ เพราะถ้าศาลฯวินิจฉัยว่าวาระตำแหน่งนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เริ่มนับตั้งแต่ปี 57 พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับมาทำงานในฐานะนายกฯได้ในวันรุ่งขึ้น หรือถ้าศาลฯบอกว่านับตั้งแต่ปี 57 พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ต้องกลับมา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกฯต่อไป แม้พล.อ.ประยุทธ์จะรักษาการนายกฯแต่ก็ไม่ควร ขณะเดียวกันไม่มีอะไรที่เป็นโมฆะด้วย ส่วนพล.อ.ประวิตรจะรักษาการฯอีกกี่วันนั้น ขึ้นอยู่กับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเรียกประชุมรัฐสภาเมื่อใดเพื่อเลือกนายกฯคนใหม่ จนกระทั่งนายกฯและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ฯ ถึงจะพ้นไป การกระทำอะไรที่ผ่านมาจะไม่ถือว่าเป็นโมฆะ
ผู้สื่อข่าวถามถึงอำนาจของรักษานายกฯในการยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่าตนพูดมา 9 ครั้งแล้วว่าในทางทฤษฎีทำได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอะไรหลายอย่าง ยกตัวอย่างสมัยพฤษภาทมิฬ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เป็นรองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯในขณะนั้น เตรียมจะยุบสภา แต่เมื่อคิดไปคิดมา นายมีชัยจึงให้ไปหานายกฯใหม่มายุบสภาดีกว่า จนกระทั่งได้นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯแล้วมาประกาศยุบสภาในที่สุด
เมื่อถามว่าได้พบปะพูดคุยกับนายมีชัยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าได้พบกันในงานสังคมงานหนึ่งที่มีคนจำนวนมาก จึงไม่ได้พูดคุยกับนายมีชัย เมื่อถามย้ำว่าได้เคยคุยกับนายมีชัยถึงเรื่องคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญบ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องคุย ทั้งนี้สื่อมวลชนไม่สงสัยกันบ้างหรือว่าตนใกล้ชิดกับนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะที่เขาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตน ซึ่งนายปกรณ์และนายมีชัยต้องชี้แจงศาลฯ แต่ทุกคนสนใจว่านายมีชัยตอบว่าอะไร โดยไม่สนใจว่านายปกรณ์จะตอบอะไรบ้าง ต่อข้อถามว่าได้พูดคุยกับนายปกรณ์บ้างหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่าไม่ตอบ
นอกจากนี้นายวิษณุยังให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรคเพื่อไทยประกาศระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงในจ.เชียงใหม่ ว่าจะพาคนที่รักกลับบ้านนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ ว่า ตนไม่ทราบ มาถามตนทำไม ตนไม่ได้พูดว่าจะเอากลับ ทั้งนี้คนที่จะเอากลับก็ต้องคิดได้ว่าเขามีปัญญา เมื่อถามว่ากฎหมายเปิดช่องที่จะทำเรื่องนี้ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าไม่ทราบ เพราะตนไม่ได้เป็นคนพูดเรื่องนี้…