เลขาฯกกต.ยันออกระเบียบเพื่อให้ พรรคการเมือง-คนการเมือง ใช้เป็นแนวปฏิบัติ ช่วง 180 วันก่อนการเลือกตั้ง ลั่นไม่ใช่กฎเหล็กลิดรอนสิทธิในการช่วยประชาชน
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.65 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีการแสดงความเห็นว่าระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการหาเสียง หรือรอนสิทธิในการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนนั้นว่า ความคิดเห็นดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนจากข้อกฎหมายอยู่มาก การที่ กกต.ออกระเบียบนี้เพื่อความเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่มีการหาเสียงเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด เพราะโทษตามกฎหมายกำหนด นอกจากกฎหมายเลือกตั้งที่มีโทษใบเหลือง ใบแดง ใบดำ ใบส้ม หรือยุบพรรคการเมือง ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่แล้ว ยังมีโทษทางอาญาด้วย ซึ่งระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงที่ออกมาไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เป็นเพียงการอธิบายกฎหมายว่าสิ่งใหนทำได้สิ่งใหนทำไม่ได้ตามกฎหมายที่กำหนด กกต.จะไปกำหนดความผิดหรือโทษเองไม่ได้ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และตัวอย่างที่ยกขึ้นมาก็เป็นตัวอย่างที่ได้จากคำพิพากษาของศาล และหนังสือตอบข้อหารือของพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ความผิดเกี่ยวกับให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ หรือการติดป้ายประกาศ หรือการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์
“เรื่องเหล่านี้เป็นข้อห้ามอยู่ในกฎหมาย ซึ่ง กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดขึ้นเอง กกต.เป็นเพียงผู้นำนำมารวมและอธิบายไว้ในระเบียบให้พรรคการเมืองหรือผู้สมัครได้ศึกษาอย่างสะดวกรวดเร็ว” นายแสวงกล่าว
นายแสวง ยังกล่าวว่า การหาเสียงและการทำหน้าที่ต้องแยกออกจากกัน การหาเสียง ไม่ว่าผู้ใดจะเป็นรัฐมนตรี ส.ส หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ก็ต้องหาเสียงภายใต้กฎหมายเลือกตั้งอย่างเสมอภาคกัน เช่น ส.ส. หรือ รัฐมนตรี ใช้เงินหรือทรัพย์สินส่วนตัวให้เงินไม่ได้เช่นเดียวกัน เป็นต้น ส่วนการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรี หรือ ส.ส. ก็ทำหน้าตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ตามปกติ กกต.ไม่อาจไปก้าวล่วงการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใคร ถ้าทำตามกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง เว้นแต่การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และระเบียบนี้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2562 ทุกอย่างเป็นไปตามหลักการเดิม คำอธิบายเดิม เพียงแต่ระยะเวลาใช้บังคับยาวนานขึ้น คือ 180 วัน
ซึ่งระยะเวลา 180 วัน กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา กกต.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้นหากจะให้เวลาใช้บังคับในการหาเสียงน้อยลง ต้องแก้กฎหมาย และต้องแก้โดยรัฐสภา ไม่ใช่ กกต. แต่ที่ กกต.แจ้งและดำเนินการก็เพื่อความเรียบร้อย และความหวังดีกับผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะหากมีการกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย หากมีผู้นำมาร้องเรียน ร้องคัดค้านภายหลัง ผลเสียก็จะเกิดแก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเอง เช่น ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัคร 1 ปี (ใบส้ม) หรือ ตลอดชีวิต(ใบดำ) เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ หรือยุบพรรคการเมืองแล้วแต่กรณี.