ปชป.จี้รัฐบาลปรับนโยบาย-กฎหมาย ชี้ประมวลยาเสพติดฉบับใหม่สร้างปัญหา ชง 3 แนวทางสกัดโศกนาฏกรรมเกิดซ้ำ
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เหตุกราดยิงที่จ.หนองบัวลำภู มี 3 ประเด็นที่ผู้มีอำนาจควรนำมาทบทวนและเพิ่มเติมเพื่อป้องกันเหตุ คือ 1.หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้ มีผลจากยาเสพติด ที่ผู้ก่อเหตุติดยาเสพติดมายาวนาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ที่เราพบว่าคนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ป่วย ตามนิยามของกฎหมายยาเสพติดใหม่ที่ว่าผู้เสพคือผู้ป่วย ประกอบกับมีการกำหนดปริมาณยาเสพติดในครอบครองว่าถ้าไม่เกิน 15 เม็ด ให้ถือเป็นผู้เสพ ซึ่งตรงนี้อาจต้องมีการทบทวนหรือไม่ว่ากลายเป็นช่องโหว่อะไรหรือไม่ และการบำบัดผู้ติดยาเสพติดจะต้องมีความละเอียดมากขึ้นก่อนจะปล่อยคนเหล่านั้นคืนสู่สังคม จึงควรวางระบบที่เข้มแข็งเพื่อสกัดแต่ต้นทาง 2.การดูแลเจ้าหน้าที่ที่ถือครองอาวุธ ต้องมีการตรวจสุขภาพจิตทุก 6 เดือน เพื่อให้เห็นชัดว่ามีใครอยู่ในภาวะเครียดอย่างไร หรือไม่ และต้องมีแนวทางด้วยว่าถ้าตรวจพบผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต หน่วยงานจะต้องดำเนินการอย่างไร และ 3.มาตรการดูแลความปลอดภัยในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มเปราะบาง อาทิ โรงเรียนที่มีเด็กๆอยู่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ควรมีปุ่มฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุ เพียงกดปุ่มนี้ก็จะส่งเสียงดังไปทั่วตำบลหรือหมู่บ้าน เพื่อให้คนในชุมชนมีโอกาสที่จะดูแลกันเองได้
น.ส.พิมพ์รพี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข คือยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง ซึ่งการแก้ปัญหานี้ ครอบครัวต้องมีความเข้มแข็ง ชุมชนต้องมีความเข้าใจ ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจัง ตนจึงอยากเสนอให้มีแนวทางบำบัดผู้เสพยาเสพติดเพิ่มเติมโดยในกรณีผู้ที่มีความก้าวร้าว ให้เข้าไปบำบัดและฝึกวินัยในค่ายทหาร เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เข้มข้นก่อนจะถูกปล่อยตัวคืนกลับมาสู่สังคม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการก่อเหตุร้ายหรือเป็นภัยต่อผู้บริสุทธิ์ โดยในรายที่สามารถเลิกเสพยาเสพติดได้ ก็ให้เขารับราชการทหาร ซึ่งจะลดการเกณฑ์ทหาร และจะได้งบประมาณตรงส่วนนี้ไปใช้แก้ไขปัญหายาเสพติดด้วย
ด้าน น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจ.หนองบัวลำภู ได้สะท้อนปัญหาอย่างน้อย 3 มิติ คือ มิติที่ 1 คือปัญหาด้านสุขภาพจิตของประชาชนโดยรวม และสุขภาพจิตของกลุ่มอาชีพที่ต้องเผชิญกับความเครียดอยู่ตลอด โดยรัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดให้การคัดกรองสุขภาพจิตอย่างสม่ำเสมอเป็นภาคบังคับในทุกภาคส่วน และขยายบัญชียาหลักแห่งชาติให้ครอบคลุมยาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยทางจิต เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ มิติที่ 2 การมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง ซึ่งรัฐบาลต้องทบทวนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน รวมถึงให้มีการคัดกรองสุขภาพจิตของผู้ที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองทุกปี โดยผู้ที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองจะต้องส่งใบรับรองจากแพทย์ให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแล เพื่อเป็นการต่ออายุใบอนุญาต และหากผู้ใดที่ไม่ผ่านการคัดกรองสุขภาพจิต ให้หน่วยงานทำการยึดอาวุธปืนไว้
น.ส.ศิริภา กล่าวอีกว่า มิติที่ 3 ปัญหายาเสพติดที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย และเน้นการแก้ปัญหาด้วยการบำบัด แต่กลับให้ผู้เสพสามารถมียาเสพติดไว้ในครอบครองในจำนวนที่มากขึ้น ทำให้จำนวนผู้ใช้ยาเสพติดและอาชญากรรมจากยาเสพติดไม่ลดลง รัฐบาลจึงต้องเร่งถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงปรับแก้นโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาสังคมในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนใจซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทยอีกต่อไป