วิพากษ์ธนาธรไลฟ์ “วัคซีนพระราชทาน” สะท้อนธาตุแท้ “ความคิดแบบนายทุน” ที่เน้นธุรกิจต้องมุ่งในการทำกำไรเพียงอย่างเดียว ละทิ้งความเป็นมนุษย์ หวังโจมตี “สยามไบโอไซเอนซ์” ที่สำนักงานทรัพย์สินฯถือหุ้น แต่ลืมถึงการก่อกำเนิดที่เกิดจากพระราชปณิธาน “ในหลวง ร.9” ที่ทรงห่วงในเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมา Live สดเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน” โดยพยายามกล่าวหารัฐบาลว่า คอรัปชั่นเชิงนโยบาย ใช้ประเด็นเรื่องวัคซีนและการระบาดของเชื้อ Covid 19 เพื่อหวังผลทางการเมือง โดยการไม่จัดซื้อวัคซีนจากบริษัทต่างประเทศตาม Time Line ที่ควรจะเป็น ทำให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนช้า ทำให้เชื้อ Covid 19 แพร่กระจายได้มากขึ้น สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพื่อเอาเงินภาษีของประชาชน ไปให้ทาง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ เพื่อว่าจ้างให้ผลิตวัคซีน ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศเสียโอกาส ได้ฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นๆ ต้องรออีกหลายเดือน เพราะต้องให้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตวัคซีนได้ปริมาณโดส ตามที่รัฐบาลว่าจ้าง แทนที่จะเจรจาซื้อวัคซีนตรงจากบริษัทต่างชาติ ที่สามารถผลิตวัคซีนได้แล้ว และพร้อมส่งให้ประเทศไทยได้ทันที โดยไม่ต้องรอวัคซีนที่ผลิตจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสุรวิชช์ วีรวรรณ บรรณาธิการเครือผู้จัดการ โพสต์ข้อความแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Surawich Verawan ว่า #ไลฟ์สดที่เผยธาตุแท้ธนาธร การไลฟ์สดของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อคืนนี้นั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะโจมตีบริษัท Siam Bioscience ที่ถือหุ้นโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องสงสัย โดยธนาธรพูดออกมาอย่างชัดแจ้งเลยว่า รัฐบาลต้องการใช้ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ในการผลิตวัคซีนเพื่อต้องการเชิดชูและสร้างชื่อเสียงให้กับพระมหากษัตริย์ ที่ลิ่วล้อและมวลชนที่คลั่งไคล้ธนาธรกำลังโจมตีพระมหากษัตริย์อยู่บนท้องถนน เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ธนาธรและพรรคพวกให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผย
ธนาธรโจมตีจุดอ่อนว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ ขาดทุนมาตลอดจึงเป็นบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยธนาธรตั้งคำถามว่า บริษัทสยามไปโอไซเอนซ์เหมาะสมที่จะทำธุรกิจนี้หรือไม่ ความคิดของธนาธรนี้อยู่บนพื้นฐานว่า บริษัทต้องทำธุรกิจเพื่อทำกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนที่ครั้งหนึ่งเขาเคยสัมภาษณ์นิตยสารสารคดีไว้ว่า “ผมปิดโรงงานไปโรงงานหนึ่ง คนงานประมาณ 700 คน เป็นครั้งแรกที่ผมปิดโรงงานเลย์ออฟคนงาน ไม่ใช่เพราะขาดทุนครับ แต่เพราะว่าจากการประเมินแล้ว ถ้าเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ปิดโรงงานไป มันจะให้ productivity ที่ดีกว่า ถามว่าในฐานะผู้บริหารองค์กรทางธุรกิจ คุณรู้ว่าทำอย่างนี้แล้วบริษัทมีกำไรมากกว่า คุณไม่ทำคุณผิดไหม ถ้าผมทำอย่างนี้แล้วผมสามารถลดต้นทุนให้บริษัทได้ ผมไม่ทำ ผมผิดจรรยาบรรณนักธุรกิจ แต่เมื่อผมเลือกที่จะทำ ผมก็ผิดความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานนั้นเป็นคนงานเก่าแก่ที่ทำงานในบริษัทมา 10 กว่าปีทั้งนั้น พอปิดโรงงานเรียบร้อยผมขึ้นรถแล้วร้องไห้ เป็นครั้งแรกที่ผมร้องไห้กับการทำงาน ผมรู้สึกว่ามันเจ็บปวด แต่ในฐานะนักธุรกิจมันต้องทำ ในแง่นี้ผมรู้สึกว่าต้องขัดแย้งกันอยู่ระหว่างศีลธรรมของความเป็นมนุษย์กับจรรยาบรรณนักธุรกิจ”
เท่ากับว่าในความคิดของธนาธรนั้น กำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด เมื่อต้องเลือกระหว่างศีลธรรมความเป็นมนุษย์กับจรรยาบรรณนักธุรกิจ ธนาธรเลือกจรรยาบรรณนักธุรกิจโดยละทิ้งความเป็นมนุษย์ไป แต่ธนาธรก็รู้อยู่แล้วว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น แม้จะเป็นบริษัทที่ประสบความขาดทุนมาโดยตลอด แต่เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การลงทุนของสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่มีความมั่นคง ซึ่งถ้ามองในแง่กลุ่มทุนแบบที่ธนาธรมองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีความมั่นคงทางการเงิน แล้วถามว่า ถ้ากลุ่มบริษัทที่มีความมั่นคงทางการเงินจะทำธุรกิจสักอย่างที่มุ่งสนองตอบต่อประโยชน์ของส่วนรวมสามารถทำได้ไหม ตอบได้เลยว่า มีบริษัทจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จทางการเงินแล้ว ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อตอบสนองทางสังคมโดยไม่หวังผลกำไร เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าไม่มีความคิดเพียงแต่ว่าธุรกิจต้องมีเป้าหมายเพื่อกำไรเพียงอย่างเดียวแบบที่ธนาธรคิดและเชื่อ
บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2552 โดยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ซึ่งการถือกำเนิดของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เกิดจากพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำรัส ดังกล่าวไว้ในเรื่องสุขภาพของประชาชน ด้วยทรงเห็นว่า ‘คน’ ปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาประเทศ สร้างความพอมี พอกิน จึงทรงให้ความสำคัญในการฟื้นฟูปัญหาสุขภาพของประชาชน เพื่อการพัฒนาประโยชน์สุขให้เกิดกับส่วนรวมและประเทศชาติ แล้วที่สำคัญไม่ใช่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในการผลิตวัคซีน แต่คนเลือกคือ บริษัทแอสตร้า เซนเนก้า
ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า การผลิตวัคซีน 26 ล้านโด๊ส ของสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี จุดเริ่มต้นทางบริษัท เอสซีจี ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ได้แนะนำให้ทางสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รู้จักกับทางแอสตร้า เซนเนก้า เพื่อให้แอสตร้า เซนเนก้า ดูว่าบริษัทสยามไบโอฯ สามารถผลิตวัคซีนได้หรือไม่ หลังจากนั้นทางแอสตร้าเซนเนก้าได้มีการเข้ามาตรวจโรงงานและศักยภาพของโรงงาน เนื่องจากเขาต้องการโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และมีกำลังการผลิตมาก 200 ล้านโด๊สต่อปี หรือ 15 ล้านโด๊สต่อเดือน เนื่องจากเขาได้เลือกไทยให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ในอาเซียน
ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เริ่มเมื่อวันที่ 7 ต .ค. 63 เป็นวันแรก แอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งเซลล์วัคซีนมาให้ 1 ซีซี เพื่อให้ทางสยามไบโอฯ มาขยายการผลิตให้ได้จำนวน 2 พันลิตร และภายใต้เงื่อนไขอีกว่า วัคซีนที่สยามไบโอฯ ผลิตได้ในอีก 6เดือนข้างหน้า จะต้องมีคุณภาพเดียวกับที่แอสตร้า เซนเนก้า ผลิตได้ในโลก
ธนาธรยังกล่าวหาว่า รัฐบาลแทงม้าตัวเดียว โดยมุ่งหวังที่แอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เรื่องนี้ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในประเด็นว่าประเทศไทยมุ่งแต่เอาเฉพาะวัคซีนจากบริษัท แอสตร้า เซนเนก้า จริงหรือไม่ ขอบอกว่าเราจะต้องหาวัคซีนให้ได้ 66 ล้านโด๊ส หรือครึ่งหนึ่งของประชากร และเราจะซื้อจากแอสตร้า เซนเนก้า เป็นชุดแรก นอกจากนั้นเรายังหาวัคซีนจากทุกช่องทาง มีการเจรจากับอีกหลายบริษัท มีการเก็บข้อมูล และลงนามข้อมูลความลับต่อกัน ทั้งกับไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห็นสัน ซิโนแว็ก ซิโนฟาร์ม แต่ขอเรียนว่าวัคซีนล็อตใหญ่ ที่เราอยากได้เพื่อมาใช้ในวงกว้าง กับบริษัทอื่นๆ เขาจะสามารถส่งมอบได้ในไตรมาสสุดท้าย ปี 64 เทียบกับแอสตร้า เซนเนก้า ที่จะได้วัคซีนใช้ในวงกว้างเร็วกว่าในเดือนพ.ค.
การออกมาไลฟ์สดของธนาธรในหัวข้อ วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย?นั้น จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ แต่ก็ได้สะท้อนธาตุแท้ของธนาธรที่มีความคิดแบบนายทุนด้วยว่า ธุรกิจต้องมุ่งในการทำกำไรเพียงอย่างเดียว
ด้าน ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่าน Arnond Sakworawich ระบุว่า…ธนาธร จงไปทำการบ้านและอธิบายคำเหล่านี้ให้ได้ก่อน
1.วัคซีนชนิด mRNA
2.วัคซีนชนิด virus vector
3.วัคซีนเชื้อเป็น
4.วัคซีนเชื้อตาย
5.Adverse event ของวัคซีน
6.Vaccine effectiveness
7.Biosimilar
8.Transfer of technology
ไม่รู้มีความรู้วิทยาศาสตร์สักแค่ไหนจริงๆ พูดมั่วๆ ไปได้มากมายเหลือเกิน