วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 3, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“กกต.”ชงหลักเกณฑ์“ปชช.”เข้าชื่อเสนอ “ครม.”ทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นชื่อ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กกต.”ชงหลักเกณฑ์“ปชช.”เข้าชื่อเสนอ “ครม.”ทำประชามติ ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นชื่อ

กกต.เผยแพร่ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565

วันที่ 16 พ.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่ประกาศ กกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 ที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา 

มีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ กำหนดให้การเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ ต้องมีจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้าม และไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 โดยการเสนอเรื่องการเข้าชื่อให้จัดทำเป็นเอกสารและข้อมูล หนังสือกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าประสงค์จะออกเสียงในเรื่องใด และเรื่องนั้นมิใช่เรื่องที่ต้องห้ามมิให้ออกเสียงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ส่วนของรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อทุกคน โดยให้จัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใส่แผ่นบันทึกข้อมูล หรืออุปกรณ์บันทึกข้อมูลแบบพกพา ทั้งนี้ ในการดำเนินการให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อยื่นเอกสารและข้อมูลด้วยตนเองต่อสำนักงาน กกต. หรือสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Email : [email protected])

เมื่อสำนักงาน กกต.ได้รับเอกสารและข้อมูล ให้ตรวจสอบรายละเอียดในหนังสือการเข้าชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเอกสาร ซึ่งกรณีที่ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้แจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ พร้อมทั้งส่งเรื่องคืนเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนและยื่นต่อสำนักงาน กกต.ตามวิธีการที่กำหนดภายใน 60 วัน แต่หากผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้การเสนอเรื่องการเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงเป็นอันยุติในคราวนั้น

ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเข้าชื่อมีสิทธิถอนการร่วมเข้าชื่อได้ภายใน 10 วันนับแต่วันที่สำนักงาน กกต.ได้รับเอกสาร โดยให้ทำเป็นหนังสือซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเลขประจำตัวประชาชน ชื่อ ชื่อสกุล และข้อความที่แสดงให้เห็นว่าตนประสงค์จะถอนการร่วมเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี พร้อมลงลายมือชื่อโดยให้ยื่นเอกสารด้วยตนเองต่อสำนักงาน กกต. หรือสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์

เมื่อตรวจสอบรายละเอียดในหนังสือการเข้าชื่อแล้วเสร็จ ให้สำนักงาน กกต.ส่งเอกสารให้สำนักเลขาธิการ ครม.เพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง ดำเนินการตรวจสอบการเข้าชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อว่ามีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเลขประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อผู้ใดไม่ถูกต้อง ให้หักออก หากยังมีผู้มีสิทธิเข้าชื่อครบจำนวน 50,000 คน ให้ดำเนินการต่อไป

แต่หากผู้มีสิทธิเข้าชื่อไม่ครบจำนวน ให้รายงานสำนักเลขาธิการ ครม.เพื่อยุติการเสนอเรื่อง และให้แจ้งผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ พร้อมทั้งส่งเรื่องคืนให้ผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อและแจ้งสำนักงาน กกต.ทราบ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเข้าชื่อถอนการร่วมเข้าชื่อเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด หรือตรวจพบว่าผู้มีสิทธิเข้าชื่อตายภายหลังจากที่ได้เข้าชื่อแล้ว ให้ถือว่าการร่วมเข้าชื่อของผู้นั้นยังคงมีผลอยู่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเสนอรายงานต่อ ครม. ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบเรื่องที่จะเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง โดยมีระยะเวลาในการตรวจสอบการเข้าชื่อ รูปแบบรายงานความเห็นและการวิเคราะห์ ผลกระทบ ให้เป็นไปตามที่สำนักเลขาธิการ ครม.กำหนด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ กกต.เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัยของ กกต.ให้ถือเป็นที่สุด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img