ทวงคืน! “สมบูรณ์” ร่อน นส.บี้ “จุรินทร์” สอบผลโพลผู้สมัครปชป.เขต 4 ตรัง แฉคนในจ้างนักวิชาการอิสระทำ ใช้วิชามาร ไม่ถูกหลักวิชาการ ชี้มีถ่ายสำเนาเพิ่มแบบสอบถาม ไม่ลงรันนิ่งนัมเบอร์ ไม่คุมผล ไม่แจงพื้นที่สุ่มสำรวจ ซ้ำไม่ให้ตรวจสอบ ยัน จำเป็นต้องให้ผู้นำพรรครู้ปัญหา หากยังให้ความเป็นธรรม คนในพรรคไม่ได้ ไม่ต้องคิดถึงประชาชนคนทั่วไป
วันที่ 20 พ.ย.65 นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาฯและอดีตส.ส.ตรัง 4 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เพื่อแจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนความไม่ชอบมาพากลของการทำโพลสำรวจคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดตรัง กรณีสำรวจคะแนนนิยมของผู้ที่เสนอตัวจะลงสมัคร ส.ส.ในนามของพรรค ซึ่งที่ผ่านมาตนเป็นส.ส.4 สมัย คือปี2544,2548,2550และปี 2554 ติดต่อกัน แต่ในปี2562 จังหวัดตรังถูกลดเหลือ 3 เขตเลือกตั้ง เพื่อลดความขัดแย้งในพรรค จึงให้ตนลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 35 โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯได้ตั้งตนให้เป็นเลขาฯ ครั้งนี้เมื่อจ.ตรังเพิ่มเป็น4 เขต ตนได้แจ้งขอลงสมัครในเขต4 เขตเดิม ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคตะให้สิทธิ์ส.ส.เจ้าของพื้นที่ หรือ อดีตส.ส.เดิมก่อน แต่ปรากฎว่า มีความพยายามขัดขวางการสมัครของตน โดยอ้างว่ามีคนประสงค์จะลงสมัครมากกว่า1คน อ้างเหตุผลว่า ตนเป็นหลุมดำของพรรคในจ.ตรังลงสมัครก็แพ้ ทั้งที่ข้อเท็จจริง ตนได้คะแนนในการเลือกตั้วปี 2554 มากที่สุดในจ.ตรังคือ 74,387 คะแนน พรรคจึงทำโพลสำรวจคะแนนนิยมจากชาวบ้านในเขตเลือกตั้งที่ 4 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้ใหญ่ในพรรค เช่น นายชวน หลีกภัย หลังการทำโพล ได้มีการเปิดเผยแค่ผลโพลว่า ตนพ่ายแพ้คู่แข่งขัน แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียด ทั้งยังประกาศผลว่าจะส่งผู้ที่ชนะโพลพรรคให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ตรัง เขต4 ในนามพรรคประชาธิปัตย์
“หลังจากผมทราบผลโพล ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริงทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่4 จ.ตรัง และตัวผู้รับผิดชอบการทำโพลนี้ ก็พบข้อเท็จจริงว่า มีเหตุน่าสงสัยหลายเรื่องที่ผมเคยทำหนังสือถามถึงหัวหน้าพรรคไปแล้ว คือ 1.สถาบันทำโพลคือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใช่หรือไม่ 2.มีการออกแบบสำรวจตามหลักวิชาการเที่ยงธรรมอย่างไร เพราะแบบสอบถามของคู่แข่งขัน มีการลงประวัติในลักษณะตั้งคำถามที่ใช้ชี้นำ เช่น นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ตำแหน่งส.ส. 4สมัย, สท.กาญจน์ ตั้งปอง ลูกชายนายอำเภอนายวิศิษฐ์ ตั้งปอง อดีตนายอำเภอหลายพื้นที่ของจังหวัดตรัง 3.ที่น่าตกใจคือ แบบสอบถามครั้งแรกแจ้งว่าทำ3,000 ชุด แต่ภายหลังพบว่ามีการถ่ายสำเนาแบบสอบถามเพิ่มอีก 3,300ชุด รวมเป็น 6,300 ชุด 4.การกระจายตัวอย่างประชากรครอบคลุมพื้นที่หรือไม่ อย่างไร 5.ผู้ที่ออกใบสำรวจ คือใคร สำรวจพื้นที่ใดบ้าง เพราะผมสอบถามชาวบ้านในพื้นที่แทบจะไม่มีใครได้รับการสำรวจ 6.พบว่ามีการถ่ายเอกสารแบบฟอร์มการสำรวจนับ1,000ชุด ที่ร้านชื่อ ‘แสนก็อปปี้’ ที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโลโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งเป็นการถ่ายจากแบบสำรวจตัวจริง โดยไม่มีหมายเลขกำกับหรือตราประทับใดๆ ซึ่งผมเชื่อว่าแบบสำรวจที่ถ่ายสำเนาเพิ่มนี้ถูกใช้ทำโพลที่ไม่สุจริต และได้แจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว
แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆจากทางพรรค ผมจึงไปพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และได้รายชื่อคณะผู้จัดทำโพลนี้ คือ 1.รศ. ชุมพล ชื่นจิตรศิริ รองอธิการบดีฝ่ายงานบริการและกฎหมาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2.ผช.ศ. ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า 3.ผช.ศ. ดร.อิศรัฐ ทุ่งไทสง โดยได้นัดพบคณะทำโพลที่หาดใหญ่เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่สรุปได้ว่า คณะผู้ทำโพลไม่ทราบวัตถุประสงค์ของการทำโพล อ้างว่า เอาผลสำรวจไปประกอบการพิจารณา ไม่ใช่สำรวจเพื่อวัดคะแนนนิยมเพื่อคัดคนลงสมัคร ที่สำคัญคณะทำโพลยอมรับว่า เป็นการรับจ้างทำโพลในฐานะนักวิชาการอิสระ ไม่ใช่ทำในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่อย่างใดและไม่รับรองผล คณะจัดทำโพลได้รับค่าจ้างในการทำโพล 180,000 บาท ส่วนคำถามในแบบสำรวจโพลที่มีลักษณะชี้นำ ก็รับข้อมูลมาจากพรรค พร้อมยอมรับว่า ได้ทำโพลเป็น2 ช่วงเวลาซึ่งต่างจากการสำรวจโพลทั่วไป คือ ปลายเดือนส.ค. และต้นเดือน ก.ย. รวม 6,300 ชุด โดยอ้างว่า ใช้เครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ไปสอบถาม และยอมรับว่า ได้ให้เงินให้คนไปจัดทำใบสำรวจเอาเอง โดยไม่มีการลงหมายเลขรันนิ่งนัมเบอร์ในแบบสอบถาม ที่น่าตกใจคือ กลุ่มอาจารย์ที่รับจ้างทำโพลยอมรับว่า ไม่ได้ติดตามควบคุมผู้ลงพื้นที่ไปสำรวจแบบสอบถามเพียงแต่ รอให้ฝ่ายลงพื้นที่ส่งเอกสารกลับมาให้ตามจำนวนเท่านั่นแล้วสรุปผล ซึ่งพออนุมานได้ว่า นี่คือการได้ข้อมูลเท็จมาเป็นผลโพล เมื่อผมขอดูรายละเอียด คณะผู้ทำโพลนี้บ่ายเบี่ยงว่า ส่งให้ทางพรรคไปหมดแล้ว ผมจึงสรุปว่าในการทำโพลครั้งนี้ ไม่โปร่งใส และข้อมูลที่ได้จึงไม่ได้มาจากประชาชนในพื้นที่ที่แท้จริง” นายสมบูรณ์ กล่าว
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ตนเชื่อว่าพรรคไม่ได้ใช้หลักการในการพิจารณาสรรหาผู้สมัครที่ต้องใช้การพิจารณาที่ ครบถ้วน รอบด้าน แต่กลับอาศัยผลโพลที่ไม่สุจริต มาตัดสินถือเป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรม ไม่มีการควบคุมติดตาม การเดินสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่4 จ.ตรัง ว่าไปสำรวจใครที่ไหนเมื่อไหร่ เพราะมอบให้ผู้ใด หรือไปสำรวจกันเอง ขอเพียงมาส่งแบบสำรวจตามจำนวนเท่านั้น ทั้งนี้ ตนเคยเป็นนักกีฬา เป็นครู และมาเป็นนักการเมืองด้วยความสุจริต รู้จักคำว่า รู้แพ้ รู้ชนะ ยอมรับการแข่งขันที่สุจริต และการทำหนังสือครั้งนี้ไม่ใช่เรายกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์กลับการพิจารณาผู้สมัครส.ส.ในนามพรรคมาเป็นชื่อตน แต่อยากให้ผู้บริหารพรรคบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส และให้คำตอบต่อสังคม ต่อประชาชนได้เห็นหลักธรรมาภิบาล การสรรหาผู้สมัครที่ยึดหลักคุณธรรม เพราะเชื่อว่าสถาบันทางการเมืองต้องมีหลักธรรมาภิบาล แต่เมื่อพรรคไม่สามารถให้ความโปร่งใส ยุติธรรมกับตน ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรค และเป็นสมาชิกพรรคที่ดี ได้แล้ว พรรคจะไปให้ความยุติธรรมกับประชาชนทั่วไปได้อย่างไร เพราะพรรคต้องไม่ทิ้งหลักการว่าพรรคเป็นของประชาชน ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค และเชื่อว่าผู้ที่ได้มาด้วยความไม่ชอบธรรม ไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้อย่างมีเกียรติ เงยหน้าไม่กล้ามองฟ้า ก้มหน้าไม่อาจมองดิน ส่วนสาเหตุที่ต้องทำหนังสือนี้ให้หัวหน้าพรรคทราบ เพราะเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร จำเป็นที่ต้องรู้ว่า ผู้มีอำนาจในพรรคบางส่วนทำกันแบบนี้ และเพื่อไม่ให้เกิดผิดพลาดซ้ำอีก ควรใช้ธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคแต่เดิมที่ไม่สร้างปัญหาเพิ่มให้พรรคและไม่โปร่งใส ไม่ถูกหลักธรรมาภิบาล ตรวจสอบไม่ได้