‘สภาสูง’ ลุยตั้งกมธ.ศึกษาทำประชามติแก้รธน.พร้อมเลือกตั้ง 30 วัน ด้าน ‘ส.ว.วันชัย’ จี้เร่งทำก่อน ‘วุฒิสภา’ หมดอำนาจต่อรอง ขณะที่ ‘เสรี’ ดันแก้ปมวาระนายกฯไม่ต้องกำหนดให้อยู่แค่ 8 ปี
เมื่อวันที่ 21พ.ย.65 เมื่อเวลา 09.30น. ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา (สว.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภาฯมีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายมณเฑียร บุญตัน สว. อภิปรายว่า เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งแบบรายมาตราและแก้ไขทั้งฉบับ เพราะครรลองการเสนอถูกต้อง และเป็นการลดความตึงเครียดทางการเมือง แต่ขอเตือนไปยังผู้แก้ไขว่าต้องคำนึงถึงความพอดี ไม่สร้างเงื่อนไขให้รัฐธรรมนูญอายุสั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงอะไรแบบถอนรากถอนโคนไม่เคยเกิดขึ้นได้ง่าย การเริ่มต้นใหม่จากศูนย์หลายครั้งจะทำให้ประเทศไทยบอบช้ำโดยไม่จำเป็น
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. กล่าวว่า อยากตั้งเป็นข้อสังเกตว่าเมื่อทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านแล้วจะมีกระบวนการแก้ไขอย่างไรหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังอยากทราบว่าคำถามที่จะถามประชาชนเป็นอย่างไร เพราะตนคิดว่าจะต้องถามให้ชัดเจนว่าให้ใครเป็นผู้แก้ไข และขอบเขตการแก้ไขเป็นอย่างไร
นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวว่า เห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว เพราะถ้าประวิงเวลาอาจจะทำให้เราไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไข ถ้าเราไม่เห็นด้วยถือว่าเรารับเผือกร้อนไว้ กลายเป็นจำเลยสังคม ดังนั้น เมื่อผ่านรัฐสภาไปแล้วเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เชื่อก่อนเข้าครม. จะต้องส่งไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ถ้าครม.ไม่เห็นด้วยทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าเห็นสมควรให้ทำตามข้อเสนอของรัฐสภาต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 120 วันตามพ.ร.บ.ประชามติ หรือใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนกว่าเรื่องนี้จะเกิดได้ แม้เราจะมีมติเห็นชอบวันนี้ แต่ด้วยข้อเท็จจริงและเงื่อนไขต่างๆไม่อาจเกิดขึ้นได้ในครม.ชุดนี้แน่นอน
“ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้โดนแก้แน่นอน ดูได้จากเสียงของส.สที่มีการตั้งธงว่าจะต้องแก้ทั้งฉบับเพียงแต่ว่าจะแก้ในสว.ชุดใด ถ้าทันสมัยพวกเราก็ยังต่อรองได้ แต่ถ้าแก้ไขหลังพ.ค. ปี 67 ซึ่งสว.ชุดพวกเราหมดวาระไปแล้ว เราก็จะนั่งตาปริบๆ ดังนั้น ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เร็วเท่าไหร่ ผมยิ่งสนับสนุน” นายวันชัย กล่าว
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงขออาศัยข้อบังคับการประชุม ขอเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขึ้นมา เพื่อศึกษาเสียก่อน
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า เหตุผลในญัตติดังกล่าว มีการระบุว่า รัฐธรรมนูญเป็นต้นตอความขัดแย้ง ทั้งที่ความเป็นจริงความขัดแย้งในบ้านเมืองช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือก่อนหน้านี้ ไม่ใช่ปัญหาของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาของนักการเมืองแล้วไปโทษรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้มาจากรัฐประหาร แต่มาจากการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แล้วผ่านการทำประชามติ นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 60 ว่าสร้างความถดถอยทางประชาธิปไตย ขยายอำนาจให้สถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตนเข้าใจว่าหมายถึงส.ว. ซึ่งเป็นความไม่เข้าใจว่าระบบทางการเมืองไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกสถาบัน ทุกองค์กร ไม่ใช่ว่ามาจากการเลือกตั้ง แล้วอยากจะพูดอะไรทำอะไรเป็นผู้วิเศษ บางครั้งช่วงไม่มีการเลือกตั้ง บ้านเมืองเจริญกว่าช่วงที่มีการเลือกตั้งก็เยอะ ตนจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับเหตุผลที่ท่านเสนอเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ควรมีการแก้ไข ซึ่งมีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ต้องทำใหม่ เช่น ประเด็นการบัญญัติว่านายกรัฐมนตรีต้องมีวาระ 8 ปี ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตความเป็นผู้นำประเทศ ตนไม่ได้พูดถึงตัวนายกฯปัจจุบัน แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ หากบ้านเมืองไปเจอคนดีมีความรู้ความสามารถสร้างความเจริญให้ประเทศได้ เขาจะถูกจำกัดด้วยระยะเวลา 8 ปี ถ้ามีคนดี 8 ปีก็ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ตนยังมีความกังวลในเนื้อหาบางส่วน ซึ่งญัตติที่เสนอมาเราต้องให้วุฒิสภายืนอยู่บนความชอบธรรมในหลักการ
ต่อมาเวลา 12.30 น. ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกมธ.ศึกษาก่อนที่ที่ประชุมวุฒิสภาจะลงมติในญัตติด่วนดังกล่าว จำนวน 26 คน ด้วยคะแนน151 ต่อ 26 งดออกเสียง 15 เสียง โดยกำหนดระยะเวลา 30 วัน