“รองโฆษกปชป.” สวนกลับ “กรวีร์” แกล้งโง่หรือรู้ไม่จริง ยัน “ประกันรายได้” ชาวนาถูกใจ เหน็บทำได้จริงไม่เพ้อฝัน ไม่ทำร้ายสังคม
วันที่ 26 พ.ย.65 นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตอบโต้นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊คถามถึงเงินประกันรายได้ และเงินส่วนต่างของชาวนา ทำได้ไว ทำได้จริงหรือไม่? ว่า ไม่แน่ใจว่าที่นายกรวีร์ออกมาโพสต์แบบนี้ เพราะไม่รู้จริง ๆ หรือแกล้งไม่รู้ แต่ส่วนตัวพยายามมองว่านายกรวีร์ เป็น ส.ส.คนรุ่นใหม่ มีอนาคตไกล คงถามด้วยความไม่รู้จริง ๆ จึงอยากอธิบายเพื่อให้เข้าใจตรงกัน จะได้ไม่ทำให้สังคมเกิดความสับสนขึ้นอีก
ทั้งนี้ “นายจุรินทร์” ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินหน้านโยบายประกันรายได้เกษตรกรเข้ามาสู่ปีที่4 แล้ว ซึ่งนโยบายนี้เป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาล และได้เดินหน้ามาโดยตลอด ซึ่งวันนี้ (26 พ.ย.65) ได้มีการมอบเงินให้กับพี่น้องชาวนาที่รอคอยทั้งเงินส่วนต่างกับมาตรการคู่ขนานพร้อมทั้งเงินไร่ละ 1,000 ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องจ่ายงวดแรกตั้งแต่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่กระบวนการพิจารณาของ ครม. ต้องใช้เวลาผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เมื่อถึงเวลาแล้วก็จ่ายเงินทีเดียว 6 งวด จากนั้นก็จะไปเริ่มงวดที่ 7 ต่อไป จนถึงงวดที่ 33 โดยมีเกษตรจังหวัดและพาณิชย์จังหวัดจัดทีมคอยอำนวยความสะดวกติดตามดูแลให้ข้อมูลกับเกษตรกรตามจุดต่าง ๆ มาตลอดระยะเวลา3 ปีและจะดูแลอำนวยความสะดวกต่อไป ซึ่งเกษตรกรชาวนาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่านโยบายประกันรายได้ช่วยให้พวกเขาปลดหนี้ได้ ลืมตาอ้าปากได้ และอยากให้มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรตลอดไป ซึ่งขณะนี้พี่น้องชาวนาต่างพากันไปกดเงินด้วยความดีใจ ปลื้มใจ ชอบใจ นโยบายประกันรายได้ แถมมีเงินค่าไถหว่านช่วยอีก บรรยากาศที่พี่น้องเกษตรกรชาวนาไปกดเงินตามตู้เอทีเอ็มของ ธ.ก.ส. ตามอำเภอตามตำบลทั่วประเทศวันนี้ก็เป็นไปอย่างคึกคัก และอยากให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลคอยใส่ใจดูแลติดตามนโยบายมาโดยตลอด เพื่อให้เงินเข้ากระเป๋าชาวนาโดยเร็วที่สุด
ซึ่งนายกรวีร์ ในฐานะ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ที่มาจากจังหวัดอ่างทองซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นชาวนา ควรจะดีใจที่มีโครงการดี ๆ ในการช่วยเหลือชาวนา ที่สำคัญคือนายกรวีร์ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายประกันรายได้อย่างถ่องแท้เสียก่อน เนื่องจากโครงการประกันรายได้ ชาวนาจะได้รับส่วนต่างก็ต่อเมื่อราคาข้าวตก และเมื่อราคาข้าวชนิดใดตกนั้น ชาวนาก็จะมีหลักประกันทันที โดยจะได้เงินสองกระเป๋าคือ กระเป๋าแรกจากการขายข้าวด้วยตัวเองและกระเป๋าที่สองจากส่วนต่างที่รัฐให้ และในกรณีที่ชาวนาไม่ได้ส่วนต่าง ก็เป็นเพราะว่าข้าวชนิดนั้นของชาวนาราคาดี มีราคาสูงในฤดูกาลนั้น ทำให้มีเงินจากกระเป๋าแรกเพียงกระเป๋าเดียว
ประเด็นต่อมาคือนายกรวีร์ ต้องเข้าใจระบบบริหารการเงินการคลังของรัฐบาล ในกรณีที่สถานการณ์ราคาข้าวไม่ดีอาจต้องใช้เงินเยอะเพื่อจ่ายส่วนต่างเป็นการประกันรายได้ แต่ถ้าสถานการณ์ราคาข้าวดีรัฐก็ไม่ต้องใช้เงินเลย ที่สำคัญในการจ่ายเงินให้เกษตรกร เงินก็จะถึงมือเกษตรกรโดยตรงบัญชีต่อบัญชี ไม่มีทุจริตแม้แต่สลึงเดียว และถ้าหากต้องใช้เงินเยอะก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งต้องมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี บางทีอาจล่าช้าบ้างราว ๆ 1-2 เดือน แต่ตลอดระยะเวลาสามปีที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรประสบความสำเร็จ พี่น้องชาวนาส่วนใหญ่เข้าใจดีถึงกลไกการทำงาน ขณะเดียวกันตัวแทนชาวนาก็อยู่ในบอร์ดข้าวทุกชุด หาก ส.ส.กรวีร์ มีข้อสงสัยก็สามารถเข้าไปขอพูดคุยหาข้อมูลจากนายกสมาคมชาวนาและชาวนาตัวจริงแถวอ่างทอง เพื่อเอามาถ่ายทอดต่อ พี่น้องชาวนาจะได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง โดยไม่บิดเบือน
“ขอบคุณ ส.ส.กรวีร์ ที่ตั้งคำถามมาเพื่อให้ได้ชี้แจง อย่างน้อยก็เข้าใจถูกว่า โครงการนี้ใช้ภาษีน้อยกว่า และไม่มีการทุจริตเพราะเงินจ่ายตรงถึงชาวนา ขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์รับผิดชอบกับทุกนโยบายที่หาเสียงไว้ โดยยึดหลักต้องทำได้ไวและทำได้จริง ที่สำคัญนโยบายที่หาเสียงต้องเกิดประโยชน์ และต้องไม่ทำร้ายสังคมอย่างแน่นอน” นางดรุณวรรณ กล่าว