ฝ่ายความมั่นคง ระบุปฏิวัติเมียนมาเป็นเรื่องภายในของพม่า แต่พร้อมรับมือหากประชาชนอพยพเข้ามาทางชายแดน ยันไทยไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศเมียนมา หลังจากที่นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา รวมถึงผู้นำผู้นำพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆ ถูกกองทัพเมียนมาจับกุมตัวเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ว่ายังจะไม่มีผลโดยตรง หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับ เมียนมา เนื่องจาก เป็นเรื่องภายในของประเทศเขา ซึ่งไทยก็คงต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องเพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ หวังจะไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น และหากมีการสู้รบกันเกิดขึ้น ก็จะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน แน่นอน ซึ่งขณะนี้ ไทยก็ปิดพรมแดนชั่วคราวไปก่อนแล้ว ซึ่งสิ่งที่น่ากังวล กรณีมีคนอพยพข้ามชายแดน ฝ่ายความมั่นคงไทย คงต้อง เตรียมการจัดพื้นที่รองรับไว้ และยังมีเรื่องการระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของไทยจะยังคงไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน และหวังให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศเพื่อนบ้าน และคงต้องเฝ้าจับตาดูท่าทีสถานการณ์ต่อเนื่องไปสักระยะหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์ให้ถูกต้องก่อนที่จะแสดงท่าทีอะไรออกไป รวมทั้งดูท่าทีของมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ และจีน ด้วย
ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมจะไปประท้วงที่หน้าสถานทูตพท่านั้น คาดว่า กลุ่มม็อบจะใช้แนวทางของ Statement by White House ในการประท้วงต่อสถานทูต ปัจจุบันฝ่ายความมั่นคง วางกำลังคุ้มครองสถานทูตไว้เรียบร้อย ซึ่งมิใช่การสนับสนุนให้ทหารพม่าปฏิวัติ แต่เป็นท่าทีมาตรฐานด้านการทูตและการเมืองระหว่างประเทศ
“รัฐบาลไทย ไม่ได้อยากเห็นการปฏิวัติในพม่า ไม่ได้อยากเห็นความวุ่นวายในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราก็ไม่ควรแทรกแซง และภาครัฐควรแสดงท่าทีเป็นผู้ให้ พร้อมช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้กลับเข้าสู่ระบอบการปกครองทางเมืองที่เหมาะสม หรืออาจให้ความร่วมมือในการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมโดยเร็วต่อไป” แหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคง กล่าว