“อดีตรองอธิการบดี มธ.” ออกโรงจี้ “นายกฯลุงตู่” กระโดดลงมาลุยแก้ปัญหาคอรัปชั่น เหมือนที่แก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 หนุนให้ตั้งทีมเฉพาะกิจเชิงรุก เหมือน “ศบค.” ดึงคนเก่ง-คนดี ที่ต้องการทำงานเพื่อชาติ แบบเต็มเวลา ย้ำเป็นความท้าทายที่คุ้มค่าต่อการเสี่ยง
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.64 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ระบุว่า…Transparency International ประกาศค่าดัชนีการทุจริตคอรัปชั่นของประเทศต่างๆ ประจำปี 2020 ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนน เท่ากับปี 2019 แต่อันดับร่วงลงมา 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 5 ในภูมิภาคอาเซียนในขณะที่ประเทศที่ได้ที่ 1 คือประเทศ New Zealand และ Denmark ได้ 88 คะแนนเท่ากัน อันดับที่ 3 คือประเทศ Singapore ได้ 85 คะแนน
มีรายงานข่าวว่า นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียด และทบทวนการปฏิบัติงานใหม่ โดยสิ่งใดที่เป็นข้อแนะนำของ Transparency International เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ การสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผย และความโปร่งใสในการได้รับสัญญานั้น (ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร) จะต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำๆอีกต่อไป
หากนายกรัฐมนตรีใช้วิธีสั่งการแบบนี้อย่างเดียว ก็เชื่อได้เลยว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยที่หยั่งรากลึกมานานจนถึงกระดูก จะยังคงเหมือนเดิม ปีหน้าดัชนีอย่างเก่งก็จะคงเดิมหรือต่ำกว่าเดิม อันดับจะต่ำลงอีก หากประเทศที่อยู่ต่ำกว่าเราเขาได้คะแนนแซงหน้าเราไป ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างมาก
หากจะแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้ได้ผล นายกรัฐมนตรีจะใช้วิธีสั่งการ และปล่อยให้เป็นไปตามระบบที่มีอยู่แล้วไม่ได้ เพราะถ้าได้ ป่านนี้การทุจริตคอรัปชั่นต้องหมดไปจากประเทศไทยนานแล้ว
แทนที่จะแค่สั่งการ นายกรัฐมนตรีจะต้องลงไปคลุกกับปัญหานี้ด้วยตัวเอง ต้องทำแบบเดียวกับการจัดการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19
เพราะปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของชาติ เป็นปัญหาที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าของชาติอย่างร้ายกาจมาช้านาน
ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทย น่าจะมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1.อุปนิสัยของคนไทยเราที่มักง่าย ถือตัวเองเป็นใหญ่ ผลประโยชน์และความสะดวกสบายของตัวเองต้องมาก่อนส่วนรวมเสมอ นอกจากนี้ยังมักปฏิบัติตัวสวนทางกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลมี่ 9 นั่นคือมักใช้เงินเกินตัว ทำให้ต้องหาช่องทางหารายได้เพิ่ม ทั้งที่ถูกกฎหมาย และที่ผิดกฏหมาย
2.ข้าราชการของไทยมีรายได้น้อยเกินไป ส่วนใหญ่ข้าราชการชั้นผู้น้อย หากอาศัยเพียงเงินเดือนโดยไม่มีความช่วยเหลือจากครอบครัว เช่น จากพ่อแม่ ไม่มีทางที่จะมีชีวิตที่มีปัจจัยพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ครบถ้วนได้
3.กระบวนการพิจารณาอนุมัติเรื่องต่างๆ ในระบบราชการ ยังคงมีการให้ใช้ดุลพินิจจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงมากเกินไป ทำให้เกิดช่องทางทุจริตคอรัปชั่น เรียกรับสินบนได้
4.การเลือกตั้งในประเทศไทยยังคงมีการซื้อเสียงกันได้ การลงเลือกตั้งส.ส. จึงต้องใช้เงินกันอย่างมหาศาล ยิ่งหากต้องการเป็นรัฐบาล พรรคการเมืองเท่าที่ผ่านมายิ่งต้องใช้เงินมาก นักการเมืองหากใช้เงินตัวเองหรือใช้เงินพรรค ก็มักค้องมีการถอนทุน หากใช้เงินจากกลุ่มธุรกิจ ก็ต้องมีการตอบแทน เป็นวงจรอุบาทว์ที่ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน
5.หน่วยงานที่ตรวจสอบเช่น ปปช” ยังคงทำงานแบบเชิงรับ กล่าวคือ รอให้มีผู้มายื่นร้องเรียนแล้วจึงดำเนินการ
6.บทลงโทษของกฎหมายสำหรับคดีทุจริตคอรัปชั่นยังไม่แรงพอ ทั้งฝ่ายรับสินบนและฝ่ายให้สินบน
7.การแก้ปัญหาการทุจริตของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ยังไม่ชัดเจนว่ามีความจริงจังจริงใจพอ ยังไม่มีรัฐบาลไหนสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ทุจริตแบบไม่ไว้หน้าใคร เรื่องที่จริงจังคือการสร้างภาพด้วยการจัด event เช่น การประกาศสงครามกับการทุจริตคอรัปชั่น แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร
การอนุมัติเรื่องต่างๆ ที่ใช้ดุลพินิจให้น้อยลง ทำได้โดยวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอน หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก็ให้อำนาจ (empower) เจ้าหน้าที่ระดับล่างอนุญาตหรืออนุมัติได้เลย โดยไม่ต้องเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อให้พิจารณาอนุญาตหรืออนุมัติ
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กระบวนการขออนุญาตต่างๆ ของกรมการขนส่งทางบก เช่น การต่อทะเบียนรถยนต์ การต่ออายุใบขับขี่ เป็นต้น แต่เดิมในสมัยก่อนใช้เวลานานมาก เพื่อให้เร็ว ประชาชนมักต้องติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ได้เร็วขึ้น ปัจจุบันหากเอกสารถูกต้อง ข้อมูลครบถ้วน ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ก็ต่อให้ได้เลย การคอรัปชั่นด้วยการติดสินบน รับสินบนจึงหมดไปโดยปริยาย
เมื่อสถานการณ์การทุจริตคอรัปชั่นของประเทศไทยในสายตาชาวโลกเป็นเช่นนี้ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะปล่อยให้อันดับการทุจริตคอรัปชั่นอยู่ต่ำเตี้ยเช่นนี้ต่อไปไม่ได้ และจะใช้วิธีการแบบเดิมก็คงไม่ได้ผล
สิ่งที่ควรทำคือ ตั้งทีมขึ้นใหม่ที่ทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับอย่าง ปปช. ลักษณะของทีมทำงาน ควรเป็นลักษณะเดียวกันกับ “ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019” หรือ ศบค. และต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับแบบ ปปช. ประกอบด้วยคนเก่งและคนดีที่ต้องการทำงานเพื่อชาติอย่างแท้จริง และต้องทำงานแบบเต็มเวลา ไม่ใช่อยู่ในรูปของคณะกรรมการ ที่มีแต่การประชุม ประชุมเสร็จแล้วก็ต่างก็กลับสู่หน่วยงานในสังกัดตัวเอง
นายกรัฐมนตรีต้องมีความกล้าหาญ เดินหน้าแบบไม่ไว้หน้าและไม่มีการประนีประนอมกับใครทั้งสิ้น และลงมานำทีมเอง
ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องลงมาแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นของชาติโดยลงมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่นายกรัฐมนตรีจะหยุดถ้อยทีถ้อยอาศัย ประนีประนอมกับพรรคการเมือง ทั้งพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ แล้วจัดการกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างเด็ดขาด แบบไม่ต้องเกรงใจใคร
การทำเช่นนี้อาจมีความเสี่ยงต่อการอยู่ในอำนาจของพลเอกประยุทธ์เอง แต่หากทำได้สำเร็จ ชื่อของพลเอกประยุทธ์จะได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นรัฐบุรุษที่สร้างคุณูปการให้กับประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์
ผลที่ตามมาเป็นความท้าทายที่คุ้มต่อการเสี่ยงอย่างยิ่ง