“ธนกร” ชู “ประยุทธ์” นายกฯ ที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ชี้ผลงานชิ้นโบว์แดง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ชาวบ้านปลื้มจนเรียกติดปาก “บัตรลุงตู่” ย้ำประเทศไทยจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องเชิงนโยบาย แจง “บิ๊กตู่” เป็นคนดี มีวิสัยทัศน์ ซื่อสัตย์ และตัดสินใจเด็ดขาด
วันที่ 4 ก.พ.66 นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินนโยบายบนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทุกมาตรการเพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากแล้วว่า “บัตรลุงตู่” ที่มุ่งช่วยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแบบพุ่งเป้า
โครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ปี 2565 มียอดสถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์ทั้งสิ้น 19.64 ล้านรายซึ่งรอตรวจสอบสิทธ์ ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 1-5 โดยรัฐช่วยจ่ายให้ครึ่งหนึ่งนั้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่มีกำลังซื้อ ช่วยรักษาระดับการบริโภคในประเทศ เพิ่มสภาพคล่องให้กับร้านค้ารายย่อย ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้สิทธิกว่า 26.38 ล้านคน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจรวม 424,879.5 ล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคนละครึ่งเฟส 5 ช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ร้อยละ 0.1 ขณะที่คนละครึ่งเฟส 4 เพิ่ม GDP ร้อยละ 0.17
นายธนกร กล่าวอีกว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง วงเงินรวม 2,016 ล้านบาท เริ่มใช้สิทธิ์ ก.พ.-ก.ย. 66 คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 12,539 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ปี 66 เป็นปีทองของการฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยตลอดทั้งปีนี้เป็น 27.5 ล้านคน คาดว่าจะสร้างรายได้หมุนเวียนเข้าประเทศทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยกว่า 2.38 ล้านล้านบาท
สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นการสนับสนุนการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันการลงทุนนวัตกรรมใหม่ สร้างรายได้ที่ยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยปี 2565 ได้ออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อEEC มูลค่า 262,982 ล้านบาท เป็นมูลค่าที่กลับเข้าสู่ระดับเทียบเท่าก่อนจะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2561 – 2565 มีการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท และเป้าหมายในช่วง 5 ปีต่อไป (2566-70) ตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท โดยจะมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC ขยายตัวได้ร้อยละ 7-9 ต่อปี
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและดิจิทัล ได้แก่ ทางราง มีแผนสร้างเพิ่มรวมเป็นระยะทาง 8,900 กิโลเมตร ครอบคลุม 62 จังหวัด เป็นทางคู่-ทางสาม ความยาว 5,640 กิโลเมตร มีสถานีกลางบางซื่อเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ ทันสมัยที่สุดในอาเซียน มีรถไฟฟ้า (กทม.และปริมณฑล) สร้างเพิ่ม 10 สาย ระยะทางรวม 204.9 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 2 สาย นอกจากนี้ ยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนทางถนน ในปี 2564 มีระยะทางรวม 11,583 กิโลเมตร และได้สร้างมอเตอร์เวย์เพิ่ม 3 เส้นทางสำคัญ (บางปะอิน-โคราช / บางใหญ่-กาญจนบุรี / และพัทยา-มาบตาพุด)
สำหรับทางน้ำ พัฒนาท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง ขณะที่ ทางอากาศ ปรับปรุงสนามบินทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพการรองรับผู้โดยสาร ด้าน “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment การใช้ G-Wallet ถุงเงิน application แอป “เป๋าตัง” เป็นต้น
นายธนกร กล่าวว่า ส่วนการเพิ่มความมั่นคงในอาชีพสำหรับเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม คุ้มต้นทุนนั้น ผ่านโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยปี 2565/66 มีเป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงิน รวม 18,700.13 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 7,660 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปีการผลิต 2564/65 วงเงิน 6,811.28 ล้านบาท รวมทั้งโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 ระยะ รวมวงเงิน 46,789 ล้านบาท และยังมีโครงการคู่ขนานช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย เพื่อส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาการผลิตและพันธุ์พืช
“ในปี 63-64 ที่ทั่วโลกประสบวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก ท่านนายกฯ สามารถนำพาประเทศผ่านวิกฤติไปได้ จนไทยได้รับการจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลกจาก 184 ประเทศทั่วโลก ที่ฟื้นตัวและรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด จากการจัดอันดับดัชนี Global COVID-19 Index (GCI) ด้วยการแก้ปัญหาได้ยอดเยี่ยม รวดเร็ว และเด็ดขาด ทั้งนี้ ผลการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลที่มีท่านนายกฯ เป็นเรือธง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเป็นขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 และคาดว่าจะเป็นปีแรกที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยสามารถกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ เศรษฐกิจโลกยังผันผวน และการเมืองระหว่างประเทศยังตึงเครียด รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบระหว่างประเทศใหม่ๆ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีความต่อเนื่องเชิงนโยบาย มีผู้บริหารที่เก่ง เป็นคนดี มีวิสัยทัศน์ และซื่อสัตย์ เพื่อนำรัฐนาวาไทยฝ่าคลื่นลมเศรษฐกิจโลกไปให้ได้ เหมือนที่ท่านนายกฯ ได้คิดและทำมาแล้ว โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายธนกร กล่าว