เพื่อไทยเปิดยุทธการกระชากหน้ากากคนดี อภิปราย ม.152 วันที่ 15-16 ก.พ.66 ไม่หวั่นองค์ประชุมล่ม พร้อมลุยเปิดอภิปรายนอกสภาทันที
เมื่อวันที่ 13 ก.พ.66 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566 ใช้เวลารวม 32 ชั่วโมง การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในสมัยอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ซึ่งครบ 4 ปี ในญัตติโดยรวมจะสอบถามข้อเท็จจริง เสนอแนะแก้ปัญหาจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วน 12 ประการ ซึ่งมีข้อเท็จจริงปรากฎว่าไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน
“รัฐบาลต้องตอบคำถามให้กับพี่น้องประชาชนในหลายเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน เช่น กรณีธุรกิจสีเทา ภัยด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การทุจริตคอร์รัปชัน จะถูกหยิบยกขึ้นมา ทั้งนี้ ขอตั้งชื่อการอภิปรายครั้งนี้ว่ายุทธการกระชากหน้ากากคนดี มาจากที่สื่อมวลชนตั้งชื่อรัฐบาลหน้ากากคนดี เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้ว่า หน้ากากคนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ได้รับรู้มาคือจะมีการปิดกั้นไม่ให้อภิปรายจากการที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะไม่เป็นองค์ประชุม ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะเราอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากมีการจงใจไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลต่อระบอบการปกครอง จึงเชื่อว่าฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนจะไม่กระทำการใดที่เป็นการทำลายระบอบการปกครองนี้ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็พร้อมจะกำหนดวันอภิปรายนอกสภา ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อรัฐบาลที่ไม่มีโอกาสตอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ หากเกิดกรณีดังกล่าวจริงอาจถือเป็นการปิดกั้นไม่ให้มีการตรวจสอบ เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฝ่ายกฎหมายของพรรคจะเตรียมพร้อมไว้ และจะเป็นประเด็นที่นำเสนอต่อพี่น้องประชาชนได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะคนที่เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่ทำตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
กรณีที่ ส.ว.บางคนแสดงความคิดเห็นว่าจะไม่เลือกแคนดิเคตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย นายแพทยชลน่าน กล่าว่า การให้ความเห็นเช่นนี้ถือว่าอาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิของประชาชน ที่พรรคเพื่อไทยพูดว่าต้องได้ 250 เสียงขึ้นไป เพราะเราจะยกตัวอย่างตัวเองให้มีจำนวนเท่ากับ ส.ว.เท่านั้น ไม่มีเจตนาอื่น เราจะได้ตัดสินใจบนพื้นฐานการเคารพเสียงของพี่น้องประชาชน เพราะเราเชื่อว่าถ้าชนะ 250 เสียง จะเป็นอาณัติของพี่น้องประชาชน เช่นเดียวกันกับ ส.ว.ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ก็หวังว่าท่านจะเคารพเช่นกัน
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการสรุปรวบยอด ตรวจข้อสอบไฟนอล ให้คะแนนรัฐบาล และส่งให้ประชาชนดู โดยดูจากนโยบายที่แถลงต่อสภาไว้ สิ่งที่พูดแล้วไม่ทำ ทำไม่ได้ หรือทำตรงกันข้าม รวมถึงแนะนำถึงช่วงเวลาที่เหลือและสมัยหน้าควรทำอย่างไร รัฐบาลชุดนี้ย้ำว่าเข้ามาปราบปรามทุจริต มีรัฐธรรมนูญปราบโกง แต่เราจะชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์การโกงที่เกิดขึ้นถูกจัดอันดับไว้อย่างไร หรือการอ้างเรื่องความมั่นคง แต่กลับมาปราบทุกคนที่เป็นศัตรูการเมือง ซึ่งแท้จริงแล้วรัฐบาลคือผู้ทำลายความมั่นคงของรัฐบาลเอง วันนี้ความมั่นคงในบริบทใหม่ของโลกไม่ใช่การซื้ออาวุธ แต่เป็นความมั่นคงที่รัฐบาลรู้ไม่ทัน รวมถึงการกล่าวอ้างเทิดทูนสถาบัน แท้ที่จริงเป็นแนวร่วมมุมกลับ ที่สำคัญที่สุด ถ้าอภิปรายจบจะเห็นถึงภูมิปัญญารัฐบาลที่ตามไม่ทันภัยคุกคามใหม่ เศรษฐกิจใหม่ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือการเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจะถามได้ว่าจะทำได้จริงหรือไม่ และทำไมจึงไม่ทำในสมัยที่เป็นรัฐบาล ส่วนการล้มองค์ประชุม นั้น หากเกิดขึ้น จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่รัฐบาลนี้ได้ข้อหาหนีการตรวจสอบ ปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน เบื้องต้น ถ้าสภาล่มในสัปดาห์นี้ จะมีนัดในสัปดาห์ถัดไป แต่ถ้าปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พรรคฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายนอกสภาทันที
ส่งนการที่ ส.ว.ออกมาแสดงควสมเห็นไม่เลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยนั้น นายสุทิน กล่าวว่า หากพิจารณาที่มา ของ ส.ว.แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่เลือก เพราะเขาต้อง ช่วยเหลือสนับสนุนปกป้องคนแต่งตั้งพวกเขาก่อน คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้น
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพร้อมมาก เพราะได้ยื่นญัตตินี้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2565 เตรียมตัวมาระยะหนึ่งแล้ว ฝ่ายค้านได้เวลา 12 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนรัฐบาล 3 ชั่วโมง โดยรัฐบาลประสงค์ที่จะไม่ให้มีการอภิปรายยืดเยื้อ จึงขอเวลาเท่านี้ ทั้งนี้ ได้รับทราบรายชื่อและประเด็นอภิปราย มีผู้อภิปรายรวม 35 คน ตลอด 2 วัน เปิดการอภิปรายและเข้าญัตติโดย นายแพทย์ชลน่าน ตามด้วยหัวหน้าพรรคและผู้ใช้สิทธิ์หัวหน้าพรรค 5-6 คน จึงเข้าเนื้อหา แบ่งเป็น กลุ่มปัญหาเศรษฐกิจ กลุ่มปัญหาสังคม ยาเสพติด และกลุ่มการเมือง ที่มีกลไกบิดเบี้ยว สถานการณ์ไม่ปกติ และกลุ่มสุดท้ายคือการทุจริต การอภิปรายจะจบประมาณเที่ยงคืนของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยนายสุทินจะเป็นผู้ปิดการอภิปราย