“ชวน” มองแง่ดีเชื่อถกซักฟอกภิ 15-16 ก.พ.ฉลุย ไม่มีเหตุผลองค์ประชุมไม่ครบ เหตุรัฐบาลกำหนดวันเวลาประชุมเอง ชี้ไม่ใช่พิจารณากฎหมาย ติงวุฒิพึ่งเป็นองค์ประชุมไม่ได้ รับสถานการณ์การเมืองไม่เหมือนอดีต เกิดพรรคย้ายพรรคมั่วไปหมด เตือนส.ส.ระวังคู่แข่งนำข้อมูลไม่มาประชุมหาเสียงโจมตี
วันที่ 14 ก.พ.2566 เวลา 11.09 น.ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์เรื่ององค์ประชุมในอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันที่ 15-16 ก.พ.นี้จะครบหรือไม่ ว่าขณะนี้มีตัวเลขส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รวมทั้งหมด 419 คน โดยแบ่งเป็นฝ่ายค้าน 186 คน รัฐบาล 233 คน ฉะนั้น โดยรวมถือว่ารัฐบาลยังถือว่าเป็นเสียงข้างมากอยู่พอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถคุมองค์ประชุมได้ รัฐบาลก็คุมไม่ได้ ดังนั้น องค์ประชุมจึงไม่ค่อยมีความแน่นอน จึงทำให้เกิดมีความรู้สึกว่าการประชุมในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ องค์ประชุมจะพร้อมหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครตอบได้ แต่การประชุมดังกล่าวเป็นการตกลงทั้งสองฝ่าย การประชุมในวันที่ 15 ก.พ. จะมีการถ่ายทอดเสียงให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภาและสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งประชาชนสามารถติดตามการประชุมได้จึงหวังว่าองค์ประชุมจะครบ และหากไม่มีปัญหาการอภิปรายก็ใช้เวลา 2 วันตามที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย และการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เป็นการประชุมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะ ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่การประชุมตามมาตรา 152 ในปีก่อนๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งประเด็นกล่าวหา แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะสามารถชี้แจงให้ประชาชนรับทราบได้
เมื่อถามว่า หากการประชุมวันที่ 15 ก.พ.ไม่สามารถเปิดได้ ขั้นตอนจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป นายชวน กล่าวว่า เรายังมองในแง่ดีว่าการประชุมในวันที่ 15 ก.พ.ดูแล้วไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่องค์ประชุมจะไม่ครบ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนดมาเอง แต่อาจจะมีบางพรรคการเมืองที่เกรงว่าจะอภิปรายนอกประเด็น แต่ตนคิดว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจะมีโอกาสชี้แจงได้ เพราะเรามีเวลาเพียงแค่สัปดาห์หน้าอีกสัปดาห์เดียวก็ปิดสมัยประชุม และวันศุกร์ที่ 17 ก.พ.ก็มีการประชุมร่วมรัฐสภา หากสมมติว่าการประชุมในวันที่ 15 ก.พ.ทำไม่ได้ ก็ให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 หารือกับวิปสองฝ่ายอีกครั้ง เพราะเราไม่มีเวลามากไปกว่านี้แล้ว เพราะการประชุมในสัปดาห์สุดท้ายของสมัยประชุมจะพยายามทำให้เรื่องที่ค้างไว้และเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วได้พิจารณาให้หมด เพราะในกมธ.เขาทำงานกันมา 1-3 ปี บางคณะใช้เบี้ยประชุมไปเป็นล้านบาท บางคณะใช้เบี้ยประชุม 2-3 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้เรื่องเหล่านั้นเสียไป ตนจึงบอกให้ทุกคนร่วมมือกันเพราะเป็นผลงานของสมาชิก
เมื่อถามว่า หากการประชุมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ไม่สามารถเปิดได้ จะส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง นายชวน กล่าวว่า ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่เหมือนในช่วงก่อนๆ ที่เมื่อก่อนจะสิ้นวาระสภาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พรรคการเมืองก็ยังคงเป็นพรรคการเมืองเหล่านั้นอยู่ การเปลี่ยนแปลงย้ายพรรคไม่ได้เป็นเหมือนในปัจจุบันนี้ แต่ปัจจุบันนี้เหมือนสถานการณ์ไม่ปกติ เพราะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นหลายพรรคและมีการย้ายพรรคอย่างไม่เปลคยเห็นมาก่อน อย่างที่เราเห็นอยู่ ดังนั้น เราจึงเห็นส.ส.ที่ไม่รู้ว่าจะอยู่พรรคไหน หรือบางคนอภิปรายในสภาฯ ก็ไม่กล้าเอ่ยชื่อพรรค เพราะมีแนวโน้มว่าจะย้ายพรรค แต่ที่สำคัญคือไม่มาประชุมและไม่กดบัตร ซึ่งตนเข้าใจว่าส่วนหนึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะอยู่พรรคไหน ฉะนั้น ในช่วงปลายสมัยสภาฯ เราจึงเห็นความไม่พร้อมในการประชุมที่ครบองค์ประชุม ซึ่งรายชื่อเราไม่ได้ปกปิด สามารถมาขอดูได้และสมาชิกที่อยากแข่งขันก็สามารถมาดูได้ว่ามาประชุมกี่ครั้ง ก็เอาไปใช้ประโยชน์ว่าคนเหล่านั้นเลือกไปแล้วรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งคู่แข่งสามารถนำไปใช้ได้
“ผมย้ำเตือนเสมอว่าอย่าไปประมาท เตือนส.ส.ที่มีความมั่นใจว่าอย่าไปมั่นใจเพราะปัจจุบันประชาชนเขาติดตามการประชุม และระบบการสื่อสารปัจจุบันสามารถเจาะได้ลึก ซึ่งประชาชนก็อาจจะรู้หรือคู่แข่งขันรู้แล้วเอาตัวเลขไปบอกประชาชนว่าไม่มาประชุมบ่อย ก็อาจจะเกิดผลกระทบได้”นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า มีการระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะพยายามเดินเกมจะล่มการประชุมสภาฯ นายชวน กล่าวว่า ตนไม่ได้ยินเรื่องนี้และไม่เคยมีใครมาพูดเรื่องนี้ เมื่อเป็นข่าวออกมาตนก็ไปถามเขาก็บอกว่าไม่ได้ยินเรื่องนี้ จริงๆ แล้วการที่ตนได้พบนายกรัฐมนตรีครั้งหลังสุดในการประชุมการปฏิรูปประเทศ ก็ได้แจ้งให้ทราบว่าการประชุมสภาฯ ล้ม แต่ตนเข้าใจว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการองค์ประชุมได้ในขณะนี้ แม้จะมีเสียงข้างมากก็ตาม ดังนั้นต้องอาศัยทุกฝ่าย