“ซูเปอร์โพล” ฟันธง “บิ๊ก 3 ป.” ผ่านฉลุยในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่หลังเสร็จศึกซักฟอก อยากให้ปรับครม.ครั้งใหญ่ “นพดล” ชี้การถ่วงดุลอำนาจ ไม่ให้ใครมีอำนาจล้นฟ้า เป็นเรื่องจำเป็น
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.64 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “เชื่อมั่น 3 ป. ผ่าน” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,730 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-5 ก.พ.64 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.9 คาดหวัง ต่อข้อมูลของฝ่ายค้านแน่น-น่าเชื่อถือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 9.1 ไม่คาดหวัง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 ระบุ พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ทำงานมีปัญหาจริง ตามที่ฝ่ายค้าน ตั้งโจทย์ ในขณะที่ ร้อยละ 9.8 ระบุไม่ได้มีปัญหาในการทำงาน
ที่น่าสนใจคือ เกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 99.3 ระบุ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องการให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.3 ระบุ ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าผลประโยชน์ชาติ และร้อยละ 93.0 ระบุ ต้นเหตุอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ปล่อยปละละเลย ทุจริต ขนแรงงานเถื่อน บ่อนพนัน ยาเสพติด และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.8 เชื่อมั่นต่อ 3 ป. ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะสามารถผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ฉลุย
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า “แผ่นดินนี้ศักดิ์สิทธิ์” ใครทำอะไรไว้ไม่ดีต่อชาติบ้านเมืองทั้งที่แยบยล และไม่แยบยล ย่อมจะมีพลังอะไรบางอย่างจัดการ “กวาดให้เรียบ” ยิ่งถ้าขั้วอำนาจใดมีรากลึกแข็งแกร่งเกินไป ขั้วอำนาจที่เหลือก็จะอ่อนแอ ยวบยาบ และบ้านเมืองก็จะเคลื่อนยาก เสาหลักต่าง ๆ อาจจะโคลงเคลง เพราะขาดความสมดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) ที่ดี
“ดังนั้น การถ่วงดุลอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อแผ่นดินนี้เป็นเรื่องจำเป็น และหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจำเป็นต้องพิจารณาการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าการปรับคณะรัฐมนตรี นั่นคือการถ่วงดุลอำนาจไม่ให้ใครมีอำนาจคับฟ้า มากจนเกินไป เพราะอำนาจเป็นแหล่งผลประโยชน์ ที่ถ้าใครครอบครองมากเกินไปก็จะแข็งแกร่งมากเกิน จนขั้วอำนาจอื่น ๆ ที่เหลืออยู่จะอ่อน ยวบยาบ ในวันหนึ่งข้างหน้า จนความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนจะถูกละเลย โดยเสียงที่ทุกข์ยากของประชาชนจะไปไม่ถึงผู้ปกครองสูงสุด “สมมาตรแห่งอำนาจ” จึงจำเป็น”ดร.นพดลกล่าว