วันศุกร์, พฤศจิกายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“พิธา”ชวน“ส.ส.”ร่วม“ก้าวไกล” โหวตคว่ำ“พ.ร.ก.เลื่อนพ.ร.บ.อุ้มหายฯ”
- Advertisment -spot_imgspot_img

“พิธา”ชวน“ส.ส.”ร่วม“ก้าวไกล” โหวตคว่ำ“พ.ร.ก.เลื่อนพ.ร.บ.อุ้มหายฯ”

“พิธา” โพสต์ชวน “ส.ส.” ร่วม “ก้าวไกล” โหวตคว่ำ พ.ร.ก.เลื่อนพ.ร.บ.อุ้มหายฯ ชี้ทุกวันที่เลื่อน คือทุกวันที่มีคนถูกซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

วันที่ 28 ก.พ.2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก หัวข้อ “กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย: ความยุติธรรมไม่ยังมาไม่ถึง” โดยระบุว่า

“การซ้อมทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายหรือการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐมักถูกเลือกใช้เป็นเครื่องมือจัดการคนที่มีความคิดแตกต่างกับรัฐ เรื่องเรียนเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏเป็นรอยด่างของกระบวนการยุติธรรมอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาอย่างยาวนาน

ผมจะลองไล่เรียงเหตุการณ์ที่เราพอจะนึกออกอยู่บ้าง:

-ปี 2497 ‘หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์’ ปัญญาชนชาวไทยเชื้อสายมลายู ถูกบังคับสูญหาย หรือถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

-ปี 2534 ‘ทนง โพธิ์อ่าน’ แกนนำขบวนการแรงงานที่ออกมาคัดค้านการทำรัฐประหาร ถูกบังคับสูญหาย ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม

-ปี 2547 ท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่ถูกโหมกระพือระลอกใหม่ ‘สมชาย นีละไพจิตร’ ทนายความสิทธิมนุษยชนถูกบังคับสูญหาย ถือเป็นคดีคนหายรายแรกของประเทศไทยที่สามารถนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม แต่การดำเนินทวงความเป็นธรรมก็เต็มไปด้วยอุปสรรค และจนถึงตอนนี้ยังลงโทษผู้กระทำความผิดไม่ได้

-ปี 2557 ไม่นานก่อนการรัฐประหาร ‘บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ’ ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานที่กำลังมีข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกบังคับสูญหาย ผ่านไป 5 ปี พบกระดูกใกล้ถังน้ำมันที่ถูกถ่วงน้ำ มีรอยไหม้และรอยแตกร้าวที่กะโหลกจากการทำร้ายร่างกาย ปัจจุบันศาลมีคำสั่งรับฟ้องอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพวก 4 คน แต่มีความเมตตาให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี และพวกเขายังเติบโตในหน้าที่การงานจนถึงทุกวันนี้

-ปี 2559 ‘เด่น คำแหล้’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินหายตัวไป ท่ามกลางบัญญากาศคำสั่ง “ทวงคืนผืนป่า” ของ คสช. ต่อมาพบชิ้นส่วนกระดูกที่สงสัยว่าเป็นของเด่น ซึ่งต่อมา สุภาพ คำหล้า ภรรยาของพ่อเด่นที่ต้องติดคุกจากปัญหาที่ดินทำกินก็เสียชีวิตลงโดยไม่ได้เห็นความยุติธรรมว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามี

-ปี 2560 ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ทหารอ้างว่าเขาขนส่งยาเสพติดและพยายามทำร้ายเจ้าหน้าที่ แม้กองทัพบกบอกว่ามีคลิปวิดีโอวินาทีเกิดเหตุ แต่ก็ไม่เคยเปิดเผยให้สาธารณชนได้เห็น

-ปี 2561 ‘สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์’, ‘สหายภูชนะ’ และ ‘สหายกาสะลอง’ ถูกบังคับสูญหาย ต่อมามีคนพบศพสองสหายถูกฆ่าคว้านท้อง ยัดปูนแท่งแล้วทิ้งศพให้ลอยตามแม่น้ำโขง ส่วนสุรชัยยังไม่มีใครพบศพ ปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม

-ปี 2562 ‘อับดุลเลาะ อีซอมูซอ’ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

-ปี 2563 ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง ถูกบังคับสูบหายที่กัมพูชา ปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ฯลฯ
หลังจากผลักดันมานานกันมาหลายปีจากทั้งภาคประชาสังคม ภาคประชาชน พรรคการเมือง และกระบวนการรัฐสภาผ่าน กมธ. กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ภายใต้ชุดคณะกรรมาธิการของ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล และแม้แต่ฝั่งรัฐบาลเอง ในที่สุดผู้แทนราษฎรจากทุกฝ่ายทุกพรรคต่างเห็นตรงกันและร่วมผ่านกฎหมายดังกล่าวเป็นที่สำเร็จจงได้ แม้จะไม่ได้มีเนื้อหากฎหมายที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นกฎหมายที่ดีพอ สำหรับการปกป้องคุ้มครองไม่ให้การบังคับสูญหายและการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย

เมื่อรัฐสภาเห็นชอบ ก็นำมาสู่การประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนตุลาคม 2565 และให้เวลา 120 วันเพื่อให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานได้เตรียมตัวก่อนบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

แต่จนแล้วจนรอด เพียงไม่กี่วันก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐบาลกลับออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ใน 4 มาตรา (มาตรา 22-25) โดยทั้งหมดนี้ มีสาเหตุมาจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่าจัดซื้ออุปกรณ์กล้องและจัดอบรมเจ้าหน้าที่ไม่ทัน ซึ่งอุปกรณ์ที่ต้องจัดซื้อนั้นประกอบไปด้วยกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ 1.7 แสนตัว กล้องติดรถ 1.5 พันตัว กล้องติดสถานที่คุมขัง 6 พันตัว

ทั้งที่จริงแล้วหน่วยงานที่ต้องเร่งดำเนินการให้กฎหมายสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองก็คือเจ้าหน้าตำรวจนั่นเอง

เราทุกคนต้องไม่คิดว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับเรา เพราะจริงๆ แล้ว เรื่องเหล่านี้จะเกิดกับใครที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้

ตัวอย่างที่ยังคงชัดเจนแจ่มแจ้งในความทรงจำของพวกเราทุกคน นั่นก็คือคลิปวิดีโอผู้กำกับโจ้ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อเรียกค่าไถ่และเค้นข้อมูลอย่างโหดเหี้ยมอมหิต จนผู้ต้องหาเสียชีวิต เหตุการณ์เหล่านี้ยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก กับใคร ที่ไหน และเมื่อไหร่ก็ได้

จุดยืนของพวกเราชาว #ก้าวไกล คือ การคืนความยุติธรรม ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพื่อป้องกันไม่ให้การบังคับสูญหายและการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีก ควบคู่ไปกับนโยบาย #ปฏิรูปกองทัพ #ปฏิรูปตํารวจ #ราชการเพื่อราษฎร และพวกเรา ส.ส. พรรก้าวไกลจะเข้าสภาไปโหวตไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. เพื่อประวิงเวลาฉบับนี้

ผมขอเชิญผู้แทนราษฎรทุกพรรคทุกฝ่าย #ประชุมสภา ร่วมโหวตคว่ำด้วยกัน

เพราะทุกวันที่เราเลื่อนเวลาออกไป คือ ทุกวันที่มีคนถูกซ้อมทรมาน ถูกบังคับให้สูญหาย และไม่ได้รับความยุติธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img