“บิ๊กป้อม” ร่ายประสบการณ์ เข้าใจโครงสร้างอำนาจของประเทศ พร้อมก้าวสู่วิถีประชาธิปไตย มั่นใจทำได้และจะทำได้ดีกว่าใคร ด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศ “ขอให้เชื่อผมสักครั้ง”
เมื่อวันที่ 8 มี.ค.66 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวข้อ บทที่ 2 ก้าวสู่วิถีประชาธิปไตย โดยระบุว่า การที่เป็นนายทหาร เติบโตจาก “ชั้นผู้น้อย” จนมาเป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” อยู่เป็นผู้หนึ่งในศูนย์กลางอำนาจรัฐ ประกอบกับการคบหาสมาคมกับคนในทุกวงการตามโอกาสที่อำนวยให้มากมาย
ทำให้ผมเข้าใจ “โครงสร้างอำนาจของประเทศ” เป็นอย่างดี เป็นโครงสร้างที่ส่งผลต่อการช่วงชิงและจัดสรรอำนาจจริง ไม่ใช่แค่โครงสร้างในรูปแบบที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้
ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน การต่อสู้ของ 2 ฝ่าย 2 แนวความคิด เป็นไปอย่างเข้มข้น ฝ่ายหนึ่งมองเห็นแต่ความเหลวแหลกของพฤติกรรมนักการเมือง แต่ความไม่รู้ ความไม่มีความสามารถของประชาชนที่จะเลือกคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศ
เห็นแต่ “นักธุรกิจการเมือง-การลงทุนทางการเมืองเพื่อค้ากำไร แสวงหาผลประโยชน์-นักการเมืองที่มาจากผู้มีบารมีในท้องถิ่น เข้ามาขยายแหล่งผลประโยชน์จากอำนาจส่วนกลาง”
ผู้ประสบความสำเร็จในตำแหน่ง หน้าที่การงาน ทั้งที่เป็นข้าราชการ และภาคเอกชน ทั้งนักธุรกิจ นักลงทุนที่ทำงานขับเคลื่อนประเทศ ส่วนใหญ่ทนกับความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อนักการเมืองในคุณสมบัติข้างต้นไม่ไหว
การสนับสนุนให้ก่อร่าง “โครงสร้างอำนาจนิยม” เกิดขึ้นจากความเหลือทนต่อพฤติกรรมดังกล่าวของนักการเมือง
ผมรับรู้ถึงกระแสสนับสนุน “การปฎิวัติรัฐประหาร” ที่ไม่เคยหมดไปจากโครงสร้างอำนาจประเทศเรามาตลอด และมองความเป็นไปทั้งหมดอย่างเข้าใจ ว่าทำไมกลุ่มผู้มีอิทธิพล ในการกำหนดความเป็นไปของประเทศจึงพากันคิดและร่วมกันลงมือเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม เหมือนชะตาชีวิตเอื้อให้ผมมีโอกาสเข้ามาทำงานในฐานะนักการเมือง ตั้งแต่ในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่นำโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ทำงานร่วมกับผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งรัฐมนตรี และ ส.ส. จนมาถึงได้ร่วมก่อตั้งพรรค และขยับมาเป็นหัวหน้าพรรคด้วยเหตุผลที่กล่าวไปในบทที่แล้ว
ด้วยประสบการณ์ใหม่ และอุปนิสัยเดิมของผม ที่รักในการคบหาสมาคมกับผู้คน ทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิต และความคิดของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากขึ้น
นักการเมืองในประเทศที่ประชาชนยังต้องการความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ มากมาย ด้วยโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศไม่เอื้อให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ ขณะที่การบริหารจัดการของระบบราชการยังบกพร่องและเป็นปัญหาอยู่มาก
นักการเมืองที่ถูกหมิ่นแคลนจากชนชั้นที่มีอิทธิพล กำหนดความเป็นไปของประเทศที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น กลับเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจปัญหา เป็นที่พึ่งที่หวังได้ในทุกเรื่องของประชาชน มากกว่าคนกลุ่มอื่นในโครงสร้างอำนาจ
ผมเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆว่า การตัดสินว่า “ประชาชนไม่มีความสามารถในการเลือกคนดี มีความสามารถเข้ามาเป็นผู้แทน” นั้นเป็น “ความคิดที่ไม่ถูก”
เพราะมอง “การตัดสินใจเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบในโครงสร้างอำนาจแบบนี้ เพียงมุมเดียว” และเป็น “มุมมองที่ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกนึกคิดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ”
และเมื่อชีวิตนักการเมืองของผม ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่สัมผัสการทำงานของนักการเมืองพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งด้วยภารกิจราชการอย่างเช่นการลงไปแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ และลงไปร่วมหาเสียง สร้างความนิยมให้สมาชิกพรรคในจังหวัดต่าง ๆ
ผมได้รับรู้ว่า การปลูกฝังสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนนั้น ไปไกลแล้ว ทั้งที่ผ่านบทบาทของนักการเมืองส่วนกลาง และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งกันทุกระดับ
ทำให้ผมกลับมาย้อนมองผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าทำไม “พรรคที่สนับสนุนอำนาจนิยม” จึงพ่ายแพ้ต่อ “พรรคที่เดินในแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกครั้งเหมือนไม่มีหนทางในชัยชนะอยู่เลย แม้ว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะสร้างกติกา และแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาควบคุมกลไก เพื่อให้เอื้อต่อชัยชนะของฝ่ายตัวเอง อย่างเอาเป็นเอาตายแค่ไหนก็ตาม
เพราะความพ่ายแพ้นั้นเกิดจาก “อำนาจนิยม” แม้จะครองใจคนบางกลุ่มได้ แต่ห่างไกลอย่างยิ่งต่อความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่
และด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นจริงในชีวิตคนส่วนใหญ่ ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองของผม อย่างที่กล่าวมาแล้ว
ทำให้เกิดความเชื่ออย่างหนักแน่นในใจว่า “ในเส้นทางการบริหารจัดการประเทศ ไม่มีหนทางอื่นนอกจากมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในระบอบประชาธิปไตย เคารพการตัดสินของประชาชนส่วนใหญ่” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะมองไม่เห็นหนทางอื่น นอกจากปักความเชื่อมั่นใน “ระบอบประชาธิปไตย” อย่างมั่นคง หนักแน่นเพียงใดก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้ และรับทราบถึงเจตนาดีต่อประเทศของคนกลุ่มที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า “มีความรู้ความสามารถ” และยังคง “มีอิทธิพลกำหนดความเป็นไปของประเทศ”
ทำให้ผมเกิดความเสียดาย และคิดว่าการหาทางประสานให้คนกลุ่มนี้ เข้ามามีส่วนร่วมในการนำพาประเทศ ย่อมเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง
และความคิดนี้เองเป็นที่มาของความมุ่งมั่น “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของผม
ท้ายของบทนี้ ผมขอให้ทุกคนเชื่อว่า ด้วยประสบการณ์ และเรื่องราวที่ผมสั่งสมมา จะทำให้ “ผมทำได้และจะทำได้ดีกว่าใคร” ในความตั้งใจด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศนี้
“ขอให้เชื่อผมสักครั้ง”
หลังจากนี้ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปว่า ผมจะทำอย่างไร