“ซูเปอร์โพล” ประเมินความเสี่ยง ความล้มเหลวการเมือง พบว่า “ลุงตู่-อุ๊งอิ๊ง” มีความเสี่ยงสูง โอกาสพลิกผัน เชื่อพรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังจับขั้วเดิมกันได้ ดับฝัน “พท.” จะไม่ได้แลนด์สไลด์
สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง “ประเมินความเสี่ยง ความล้มเหลวการเมือง” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,061 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค.66 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนจากขนาดตัวอย่างบวกลบร้อยละ 5 ในช่วงความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่า เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 37.7 ยังคงสนับสนุนรัฐบาลทำงานต่อ ในขณะที่ร้อยละ 34.2 ขออยู่ตรงกลาง พลังเงียบ และร้อยละ 28.1 ไม่สนับสนุนรัฐบาล
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะกาบัตรให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด (ถ้าเลือกได้) พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 39.0 ระบุ บัตรอุ๊งอิ๊ง (เพื่อไทย), ร้อยละ 21.9 ระบุ บัตรอนุทิน (ภูมิใจไทย), ร้อยละ 13.9 ระบุ บัตรจุรินทร์ (ประชาธิปัตย์), ร้อยละ 13.2 ระบุ บัตรลุงตู่ (รวมไทยสร้างชาติ) และร้อยละ 2.6 ระบุบัตรลุงป้อม (พลังประชารัฐ) ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงการเมืองกับกระแสส.ส.ย้ายออกจากพรรค (โอกาสพลิกผัน) พบว่า ร้อยละ 57.4 เสี่ยงน้อยถึงไม่กระทบเลย ในขณะที่ร้อยละ 24.5 กระทบปานกลาง และร้อยละ 18.1 เสี่ยงมากถึงมากที่สุด
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงการเมืองกับกระแสส.ส.ย้ายออกจากพรรค (โอกาสพลิกผัน) กับความตั้งใจจะกาบัตรเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถ้าเลือกได้ พบว่า บัตรลุงตู่ (รวมไทยสร้างชาติ) มีความเสี่ยงมากที่สุดคือร้อยละ 27.1, บัตรอุ๊งอิ๊ง (เพื่อไทย) มีความเสี่ยงสูงรองลงมาคือร้อยละ 22.2, บัตรอนุทิน (ภูมิใจไทย) มีความเสี่ยงร้อยละ 18.2, บัตรจุรินทร์ (ประชาธิปัตย์) มีความเสี่ยงร้อยละ 12.9 และบัตรลุงป้อม (พลังประชารัฐ) มีความเสี่ยงร้อยละ 3.6 ตามลำดับ

รายงานของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ระบุว่า ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงความล้มเหลวการเมืองในผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า โอกาสพลิกผันทางการเมืองยังคงมีอยู่ที่จะทำให้อันดับผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงได้โดยเฉพาะต่อพรรครวมไทยสร้างชาติที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในปัจจุบันนี้และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่มีความเสี่ยงสูงอาจเกิดโอกาสพลิกผันเปลี่ยนใจของประชาชนผู้ตั้งใจจะเลือกได้ นี่คือความรู้สึก (Sentiment) ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอันน่าจะมีปัจจัยสำคัญมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลอื่น ๆ ประกอบและพบสาเหตุที่เป็นไปได้บางประการได้แก่
ประการแรก ความเป็นสถาบันการเมืองการไม่เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งใหม่จนกล่าวกันว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจ ไม่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหวังเป้าหมายทางการเมืองอะไรบางอย่าง ความมีหลักการอุดมการณ์ทางการเมืองที่ยาวนาน และผลงานการประกันรายได้เกษตรกรพืชเศรษฐกิจ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ความตั้งใจจะเลือกบัตรจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์มีความเสี่ยงต่ำต่อการตัดสินใจของแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ในการตั้งใจจะกาบัตรจุรินทร์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถ้าเลือกได้
ประการที่สอง ความเป็นอนุรักษ์นิยมที่ประชาชนต้องการให้กลับไปสู่วิถีชีวิตแบบเดิมปรากฏในนโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยอันเป็นวิถีชีวิตของประชาชนชาวบ้านในการใช้กัญชาเพื่อเหตุผลทางการแพทย์พื้นบ้าน หมอชาวบ้านในสมัยดั้งเดิมและผลงานของพรรคภูมิใจไทยด้านสุขภาพและดูแลสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น อสม. การเป็นที่ยอมรับของนานาชาติทั่วโลกต่อผลงานฝ่าวิกฤตโควิด น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้มีความเสี่ยงต่ำเช่นกัน ส่วนการทำลายพรรคภูมิใจไทยจากกระแสไม่น่ามีผลเท่าการมุ่งจะฆ่ากันเองของผู้มีอำนาจ
รายงานของซูเปอร์โพลระบุด้วยว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงครั้งนี้มาจากความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงความล้มเหลวการเมืองของพรรคการเมืองและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอาจจะพลิกผันด้วยเหตุผลอื่นได้ เช่น การใช้กฎหมายเพื่อรวบหัวรวบหาง กินปลาทั้งบ่อ จัดการกับพรรคการเมืองที่แย่งปลาในบ่อเดียวกัน เมื่อจัดการพรรคการเมืองที่แย่งปลาในบ่อเดียวกันได้ตัวเลือกตัวหารน้อยลงก็จะเข้าสู่เป้าหมายทางการเมืองของบางคนได้ เพราะกลยุทธ์ชนะการเลือกตั้ง กับ เป้าหมายการจัดตั้งรัฐบาลและการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นคนละส่วนกัน ผู้ชนะการเลือกตั้งอาจจะไม่บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลและไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น ถ้าห่ำหั่นฆ่ากันเองเพื่อแย่งปลาในบ่อเดียวกัน ก็อาจจะพังกันไปทั้งแถบ แต่ถ้าตกลงกันได้เพื่อให้ทุกอย่างขับเคลื่อนเดินหน้าถึงเป้าหมาย แบบเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น (Status Quo) หมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลยังสามารถรวมตัวกันจัดตั้งรัฐบาลแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ได้เหมือนเดิม เพราะคะแนนวันนี้ของฝั่งรัฐบาลรวมกันแล้วจะพบว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์ การเจรจาตกลงกันได้ในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งแท้จริง จึงเป็นแนวทางที่น่าพิจารณาเพราะต่างฝ่ายต่างมีศักยภาพ คงไม่มีใครยอมตกเป็นเป้านิ่งให้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว