กกต. เคาะวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 เลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. รับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 3-7 เม.ย. 66
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงผลประชุม กกต. พิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา ว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับในวันที่ 20 มี.ค. 2566 โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป นั้น วันนี้ สำนักงาน กกต.ได้เสนอร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ กกต.พิจารณา โดยที่ประชุม กกต.พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่ สำนักงาน กกต.เสนอ โดยเห็นชอบร่างแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 2566 เป็นวันออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ขณะที่วันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมือง รวมทั้งแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แบ่งเป็น วันที่ 3-7 เม.ย. 2566 เป็นวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งประกาศกำหนด และวันที่ 4 – 7 เม.ย. 2566 เป็นวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร แขวงดินแดง เขตดินแดง กทม. นอกจากนั้นยังกำหนดระยะเวลายื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ตั้งแต่ วันที่ 27 มี.ค. ถึงวันที่ 13 เม.ย. 2566 ส่วนการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งในระหว่างวันที่ 7 – 13 พ.ค. และ 15 – 21 พ.ค. 2566
นายแสวง กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กกต. ได้ เห็นชอบร่างประกาศ กกต. ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 5 ฉบับ คือ 1. ร่างประกาศฯ เรื่อง กำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อ ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ 2.ร่างประกาศฯ เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่ง เขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยใช้ข้อมูลตาม ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง และท้องที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้ง ลงวันที่ 16 มี.ค. 2566 3. ร่างประกาศฯ เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 4. ร่างประกาศฯ เรื่อง กำหนดวันและเวลายื่นคำขอลงทะเบียน ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง โดยกำหนดให้ยื่นคำขอลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. ถึงวันที่ 13 เม.ย. 2566 และ 5.ร่างประกาศฯ เรื่อง กำหนดวันและเวลาออกเสียงลงคะแนน ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง สำหรับที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้ง และที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.จะได้ส่งประกาศดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.)
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแผนรับมือหากศาลปกครองมองว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งมีปัญหา นายแสวง กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่เห็นเอกสารจากศาล แต่ในส่วนสำนักงานกกต.ทำงานไปตามกฎหมาย คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการประชุม และที่ประชุมได้มีการเตรียมการไว้พอสมควร ส่วนเมื่อถามว่า กกต.เตรียมรับมือการเลือกตั้งที่มีการใช้เงินหรือกระสุนทางการเมืองอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า มาตรการที่จะทำให้ทุกคนอยู่ในที่ตั้งหรือที่ที่ควรอยู่ ซึ่งกกต.แสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ครั้งนี้น่าจะมีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกับสำนักงานฯเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
เมื่อถามว่า ช่วงนี้พรรคการเมืองและว่าที่ผู้สมัครส.ส.ลงพื้นที่หาเสียงกันต่อเนื่อง จะมีการกำชับเรื่องใดเป็นพิเศษเพื่อป้องกันกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ขอความร่วมมือทุกคนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากอยากเห็นการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอให้เคารพกฎหมายในการแข่งขัน ตั้งแต่กกต. พนักงานกกต. กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ขณะเดียวกันรัฐบาลรักษาการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และระเบียบกกต. ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 กำหนดไว้ ส่วนข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบให้คุณหรือโทษแก่ผู้สมัคร ทั้งนี้ สำนักงานฯกกต.ได้เตรียมมาตรการที่จะดูแลเพื่อให้ทุกคนอยู่ในที่ควรจะอยู่ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้วก็จะเกิดเงื่อนไขใหม่เริ่มนับหนึ่งการเลือกตั้ง ช่วงแรกการหาเสียงอาจจะยังไม่เข้มข้น แต่เมื่อว่าที่ผู้สมัครส.ส.รู้เขตเลือกตั้ง รู้พื้นที่ และรู้วันเลือกตั้ง แล้ว เชื่อว่าการหาเสียงน่าจะมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ส่วนประเด็นคำร้องเรียนช่วง 180 วันก่อนวันเลือกตั้งนั้น กกต.ยังคงดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย
เมื่อถามว่า กรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาต่อต้านกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นสิทธิที่สามารถทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญคนไทยมีสิทธิและเสรีภาพ แต่การใช้สิทธิใดต้องเคารพกฎหมาย เบื้องต้นคงต้องดูข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายมีอยู่แล้ว ต้องดูว่าเมื่อมีพระราชกฤษฎีกา คนทำได้แค่ไหน เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครอง ซึ่งกกต.มีหน้าที่ตรวจสอบว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ หากไม่ผิดก็สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งต้องดูข้อเท็จจริงว่าเข้าเงื่อนไขหรือองค์ประกอบของกฎหมายหรือไม่
เมื่อถามว่า มีบางพรรคการเมือง รณรงค์ให้ประชาชนร่วมบริจาคเพื่อทำป้ายหาเสียงและใบปลิว สามารถทำได้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า เบื้องต้นตรวจสอบแล้ว อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งตามมาตรา 68 ซึ่งผู้สมัคร หรือ พรรค สามารถรับบริจาคจากบุคคลได้เพื่อใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งช่วงมีพระราชกฤษฎีกา ถ้ารวมกันเกิน 10,000 บาทต่อ 1 วัน ต้องแจ้งกกต.ทราบภายใน 7 วัน
เมื่อถามทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด เลขาธิการกกต. กล่าวว่า ”มีความพร้อม 110 เปอร์เซ็นต์”.